- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 20 June 2016 22:24
- Hits: 4074
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 20-24 มิ.ย. 59 และสรุปสถานการณ์ฯ 13-17 มิ.ย.59
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (20 - 24 มิ.ย. 59)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะได้รับแรงกดดันจากแรงเทขายทำกำไรในกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากความกังวลเรื่องการลงประชามติของอังกฤษที่จะแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ ประกอบกับ การที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) เริ่มกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวจากเหตุการณ์การโจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบในไนจีเรียที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากกลุ่มติดอาวุธ ไนเจอร์ เดลต้า อเวนเจอร์ ยังคงเดินหน้าโจมตีและปฎิเสธที่จะมีการเจรจากับรัฐบาลเพื่อหาข้อสรุป ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบล่าสุดปรับลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
การลงประชามติของอังกฤษที่จะแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ โดยผลการสำรวจล่าสุด ณ วันที่ 16 มิ.ย. พบว่าสัดส่วนผู้ที่สนับสนุนให้ประเทศอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (47%) มีจำนวนมากกว่าผู้ที่สนับสนุนให้ประเทศอังกฤษยังคงอยู่ในสหภาพยุโรป (44%) ซึ่งประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลต่อตลาดเงินทุนทั่วโลกอย่างมาก เนื่องจากถ้าหากอังกฤษออกจากยุโรปจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรปและอังกฤษชะลอตัวลงและอาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันได้ นอกจากนั้น ประเด็นดังกล่าวยังส่งผลกดดันให้นักลงทุนมีการเทขายเงินปอนด์ของอังกฤษและสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อโยกย้ายเงินไปลงทุนในเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ถึง 2 ครั้ง โดยเฉลี่ยครั้งละ 0.25% สำหรับการประชุมในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเฟดยังคงกังวลเรื่องการขยายตัวของการจ้างงานที่ชะลอตัวลง โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 38,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 53 และประเด็นเรื่องการลงประชามติของอังกฤษจากกรณีการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั่วโลก
สถานการณ์ความไม่สงบไนจีเรียยังคงยืดเยื้อ หลังกลุ่มติดอาวุธ ไนเจอร์ เดลต้า อเวนเจอร์ ยังเดินหน้าก่อเหตุโจมตีท่อขนส่งน้ำมันของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของไนจีเรีย (NNPC) และของบริษัท Eni บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของอิตาลี ส่งผลให้กำลังการผลิตยังคงปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีที่ราว 1.5 – 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ กลุ่มดังกล่าวยังปฎิเสธข้อเสนอที่จะเจรจากับรัฐบาลไนจีเรียเพื่อยุติการโจมตีในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันสำคัญทางตอนใต้ของไนจีเรียอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีโอกาสสูงที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียจะคงอยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 10 มิ.ย. ปรับลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล เป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกัน สู่ระดับ 531.5 ล้านบาร์เรล โดยการปรับลดลงเป็นผลมาจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลงและอัตราการกลั่นที่คงอยู่ในระดับสูงเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูกาลขับขี่ อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้น 0.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 66.5 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมจากหลุมที่ได้ขุดเจาะรอไว้ล่วงหน้า (Drilled-but-Uncompleted Wells - DUCs) และเริ่มมีการเพิ่มจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (สิ้นสุด ณ วันที่ 10 มิ.ย.) ขึ้นอีก 3 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน สู่ระดับ 328 แท่น โดยจำนวนแท่นขุดน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน ดัชนีการผลิตยูโรโซน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐฯ ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 - 17 มิ.ย. 59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 47.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.37 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 49.17 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 44 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน ประกอบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับกรณีที่ประเทศอังกฤษอาจตัดสินใจแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในการลงประชามติวันที่ 23 มิ.ย.นี้