- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 16 June 2016 16:12
- Hits: 1341
ราคาน้ำมันดิบปรับลดต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 จากความกังวลว่าอังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป ขณะที่ FED คงอัตราดอกเบี้ย
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเป็นวันที่ห้าติดต่อกัน เนื่องจากความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับสหราชอาณาจักรที่มีแนวโน้มจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในยุโรปและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการใช้น้ำมัน
+/- แนวโน้มดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. เนื่องจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2559 และปี 2560 จะเติบโตน้อยกว่าคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้าราวร้อยละ 0.1 อย่างไรก็ดี FED ยังคงแผนที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองครั้งภายในปีนี้ ซึ่งการเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งมากพอที่จะรับผลกระทบได้
+ ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงไม่มากเนื่องจากยังคงได้รับแรงหนุนหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ประกาศปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ สัปดาห์ก่อนหน้าปรับลดลง 933,000 บาร์เรล แต่ยังคงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงราว 2.3 ล้านบาร์เรล
+ Goldman Sach คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในระดับ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากกำลังการผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปก (Non-OPEC) ยกเว้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงราว 430,000 บาร์เรลต่อวัน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากแรงกดดันของภาวะอุปทานล้นตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในเอเชียเหนือที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าคาดการณ์ นอกจากนี้ กำลังการผลิตของอิหร่านที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการส่งออกมายังภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานค่อนข้างตึงตัวในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ส่งออกน้ำมันดีเซลลดลงร้อยละ 73.2 จากสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงกดดันจากฤดูมรสุมที่อาจจะทำให้อุปสงค์ในอินเดียและเวียดนามปรับตัวลดลง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
สถานการณ์ความไม่สงบไนจีเรียยังคงยืดเยื้อ หลังกลุ่มติดอาวุธ ไนเจอร์ เดลต้า อเวนเจอร์ ยังเดินหน้าโจมตีท่อขนส่งและแหล่งผลิตน้ำมันดิบ ทั้งนี้ สถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปีที่ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย.และเดือน ก.ค. ออกไปก่อน โดยตลาดซื้อขายล่วงหน้าของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสหรัฐฯ (Fed Funds Futures) มองว่าโอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ค. เหลือเพียง 18%
ปริมาณน้ำมันดิบในคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 3 มิ.ย. ปรับลดลงกว่า 3.2 ล้านบาร์เรล เป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สู่ระดับ 532.5 ล้านบาร์เรล