WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIL51สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 30 พ.ค.-3 มิ.ย. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 6-10 มิ.ย. 59

โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

     สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน เฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 0.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก ลดลง 0.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ซึ่งใช้อ้างอิงทั่วไปในเอเชียเพิ่มขึ้น 0.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่  60.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

·       EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ค. 59 ลดลง 1.4 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 535.7 ล้านบาร์เรล

·       Reuters คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน พ.ค. 59 ลดลง 0.12 ล้านบาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 32.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหตุหลักจากการผลิตของไนจีเรียและลิเบียลดลงเพราะสงครามกลางเมือง

·        EIA รายงานความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้น 2.0% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 19.61 ล้านบาร์เรลต่อวันนำโดยน้ำมันเบนซิน ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ รายงานการขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์ในสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้น 5.0% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 2.73 แสนล้านไมล์ (4.37 แสนล้านกิโลเมตร) สูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับเดือน มี.ค.

·       CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 มิ.ย. 59 สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้น 1,024 สัญญา WoW มาอยู่ที่ 255,533 สัญญา

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

·       ผลการประชุมสามัญของ OPEC วันที่ 2 มิ.ย. 59 มีมติคงเพดานการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ในทางปฏิบัติ OPEC จะผลิตสูงกว่านั้นเรื่อยมาก็ตาม ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันคนใหม่ของซาอุดีอาระเบีย นาย Khalid al-Falih เสนอตั้งเพดานการผลิตให้สูงขึ้น แต่อิหร่านยังคงแน่วแน่ในจุดยืนเดินหน้าผลิตน้ำมันดิบจนกว่าจะกลับไปสู่ระดับ ล้านบาร์เรลต่อวันก่อนถูกคว่ำบาตร ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้

·       รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไนจีเรีย นาย Emmanuel Ibe Kachikwu เผย ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบกลับมาอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่ลดลงแตะระดับ 1.4 MMBD ขณะถูกโจมตีโดยกลุ่มกองกำลังแบ่งแยกดินแดน Niger Delta Avengers (NDA) เมื่อเดือนก่อน

 

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ

แม้การประชุมสามัญของ OPEC วันที่ 2 มิ.ย. 59 จะมีมติคงเพดานการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่เช่นซาอุดีอาระเบียและอิหร่านไม่สามารถตกลงกันได้ อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการประชุมไม่ตึงเครียดและขัดแย้งดังเช่นการประชุมระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ทั้งในและนอก OPEC เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 59 นโยบายของซาอุฯ ภายใต้การนำของนาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันคนใหม่แลดูไม่แข็งกร้าวดังเช่นแต่ก่อน กล่าวคือ ปรับท่าทีจากเดิมที่มุ่งผลิตน้ำมันดิบเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด กลายเป็นรักษาระดับการผลิตให้เหมาะสม พร้อมยืนกรานจะไม่ทำให้ผู้บริโภคต้องตื่นตระหนกเพราะจะซาอุฯ ด้วยการปล่อยน้ำมันดิบออกมาจนท่วมตลาด ทำให้ตลาดโดยรวมมองผลการประชุมค่อนไปทางบวกเล็กน้อย

ส่วนสถานการณ์การผลิตน้ำมันดิบชะงักงันในแคนาดาและไนจีเรียที่เป็นแรงส่งให้ราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือน พ.ค. 59 ปัจจุบัน เหตุไฟป่าบริเวณ Fort McMurray ในรัฐ Alberta ประเทศแคนาดาเริ่มสงบลงในหลายจุด ทำให้บริษัทผลิตน้ำมันดิบเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตแล้ว แต่สถานการณ์ในไนจีเรียยังคงเปราะบาง แม้บริษัทผลิตน้ำมันดิบจะซ่อมแซมจุดที่เสียหายไปและเริ่มกลับมาดำเนินการบ้างแล้ว แต่กองกำลังแบ่งแยกดินแดน Niger Delta Avenger ยังคงมุ่งเดินหน้าโจมตีแหล่งผลิตและท่อขนส่งน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบผันผวนอยู่ตลอด ด้านความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิค สัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent อยู่ในกรอบ 48.9-51.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 47.7-50.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 45.0-47.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลงเนื่องจากอุปสงค์จากอินโดนีเซียไม่สูงเช่นแต่ก่อนแม้ในช่วงเก็บสำรองก่อนเข้าสู่เทศกาลรอมฎอน ทั้งนี้ ปัจจุบัน อินโดนีเซียนำเข้าเบนซินประมาณ 8 ล้านบาร์เรลต่อเดือน เทียบกับปีก่อนๆที่ประมาณ 10 ล้านบาร์เรลต่อเดือนขึ้นไป ด้านเรือเก็บ Gasoline ที่ลอยลำอยู่บริเวณน่านน้ำสิงคโปร์และมาเลเซียเริ่มลดจำนวนลงและอาจหมดไปภายในสัปดาห์นี้ เพราะไม่คุ้มค่าเนื่องจากราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับเปลี่ยน จึงต้องเร่งขายออกหรือสูบถ่ายมาเก็บไว้บนภาคพื้นดินซึ่งค่าเก็บต่ำกว่า ทั้งนี้ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินและแนฟทาเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้น 1.4% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 15.08 ล้านบาร์เรล PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ค. 59 ลดลง 0.2% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 11.46 ล้านบาร์เรล

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้ในเอเชียอยู่ในระดับสูง ทั้งจากอินเดีย ปากีสถาน และโดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งนำเข้ากว่า 1 ล้านบาร์เรล ทั้งในเดือน เม.ย. และ พ.ค. 59 สูงกว่าที่นำเข้าในเดือน มี.ค. 59 เกือบเท่าตัว อย่างไรก็ตาม คลื่นความร้อน (Heatwave) ในอินเดียสิ้นสุดลง และย่างเข้าสู่ฤดูมรสุมแล้ว เห็นได้จากฝนที่เริ่มตกลงในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้อินเดียกลายมาส่งออกมากขึ้น จากที่นำเข้าในช่วงครึ่งแรกของเดือน พ.ค. 59 อนึ่ง อินเดียใช้ดีเซลเป็นเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องสูบน้ำเพื่อทำกสิกรรม ซึ่งในฤดูน้ำหลาก ก็ไม่จำต้องใช้เครื่องสูบน้ำ นอกจากนี้ บริษัท Royal Dutch Shell กลับมาเปิดดำเนินการหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (210,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นน้ำมัน Bukom (500,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสิงคโปร์ หลังปิดซ่อมแซมมาตั้งแต่ ก.ค. 58 ซึ่งจะทำให้อุปทานส่วนหนึ่งกลับสู่ตลาด ทั้งนี้ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้น 18.6% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 11.89 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ค. 59 ลดลง 5.6% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 10.19 ล้านบาร์เรล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!