- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 31 May 2016 22:07
- Hits: 3312
ราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน คาดกลุ่มโอเปกไม่สามารถตกลงกันได้ในการรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ. ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม 2559
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 45 – 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 45 – 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23 - 27 พ.ค. 59)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีโอกาสอ่อนตัวลง จากแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุน หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะลุ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากคาดว่ากลุ่มโอเปกจะไม่สามารถตกลงเรื่องการรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบได้ในการประชุมวันที่ 2 มิ.ย. นี้ ประกอบกับ ตลาดมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาอาจไม่ได้ปรับลดลงไปมากนัก เนื่องจากตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. ที่หายไปเกือบ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่าในเดือน เม.ย. ที่มีอุปทานหายไปราว 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเหตุสุดวิสัยและการหยุดการดำเนินอย่างฉุกเฉินในแคนาดา ไนจีเรีย เวเนซุเอลา และลิเบีย
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาการประชุมโอเปก ณ กรุง เวียนนา ประเทศออสเตรียในวันที่ 2 มิ.ย. นี้ ว่ากลุ่มโอเปกจะสามารถตกลงเรื่องการรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบได้หรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกกว่า 18 ประเทศไม่สามารถตกลงเรื่องการตรึงปริมาณการผลิตได้ โดยผู้ผลิตน้ำมันดิบรายสำคัญในกลุ่มโอเปกยังไม่แสดงท่าทีว่าจะร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพของตลาด เนื่องจากยังคงผลิตน้ำมันดิบในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องเพื่อต้องการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิหร่านที่ยังคงเดินหน้าผลิตและส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้รับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติมหาอำนาจ โดยล่าสุดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน เม.ย. พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับระดับเดียวกันของเดือน พ.ย. 54 ก่อนที่จะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติมหาอำนาจ ในขณะที่ ซาอุดิอาระเบียยังคงเดินหน้าผลิตน้ำมันดิบสูงเกือบเป็นประวัติการณ์ที่ 10.26 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย.
เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังจากที่ล่าสุดมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) วันที่ 14-15 มิ.ย. นี้ โดยรายงานการประชุม FOMC ประจำเดือน เม.ย. ส่งสัญญาณว่า Fed พร้อมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี เมื่อเดือน ธ.ค. 58 ที่ผ่านมา หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะขยับเข้าใกล้เป้าหมาย 2% มากขึ้น
อุปทานน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. หายไปเกือบ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่าในเดือน เม.ย. ที่มีอุปทานหายไปราว 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเหตุสุดวิสัยและการหยุดการดำเนินอย่างฉุกเฉิน ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยเหตุการณ์ไฟป่าในแคนาดาส่งผลให้ปริมาณการผลิตต้องชะงักไปราว 1.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนและปัญหาทางการเงินจากภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำของเวเนซุเอลา และความไม่สงบในไนจีเรียที่ยังคงยืดเยื้อจากการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันดิบและท่อขนส่งน้ำมันดิบที่สำคัญในประเทศโดยกลุ่มติดอาวุธ ไนเจอร์ เดลต้า อเวนเจอร์ส ทำให้บริษัทน้ำมันรายใหญ่หลายแห่งต้องหยุดดำเนินการผลิต และส่งผลให้ปริมาณผลิตน้ำมันดิบปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปีที่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ (ณ วันที่ 20 พ.ค.) ปรับตัวลดลงกว่า 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 8.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ชะลอการลงทุนและการผลิตน้ำมันดิบ นอกจากนี้ EIA คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในเดือน มิ.ย. จะชะลอตัวลงราว 113,000 บาร์เรล เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน สู่ระดับ 4.85 ล้านบาร์เรล
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ดัชนีภาคการบริการ และยอดค้าปลีกของยูโรโซน รายจ่ายในการบริโภคของบุคคล รายได้ส่วนบุคคล ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีภาคการผลิต (ISM PMI) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก การจ้างงานนอกภาคการเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนีภาคการบริการ (ISM Non-PMI) ของสหรัฐฯ ดัชนีภาคการบริการ (Service PMI) และดัชนีภาคการผลิตของจีน (Caixin, NBS PMI)
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 - 27 พ.ค. 59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 49.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.60 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 49.32 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 46 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงกว่า 4.2 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 7 สัปดาห์ อีกทั้งยังปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงเพียง 2.5 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของอิรักล่าสุดปรับลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือน ม.ค. ที่ระดับ 4.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาไฟฟ้าขัดข้องและสภาพอากาศที่ไม่ดีนัก