- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 18 May 2016 21:55
- Hits: 3648
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังลดลงประกอบกับไฟป่าที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน หลังจากที่สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 13 พ.ค. ปรับตัวลดลง 1.14 ล้านบาร์เรลซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ในขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) จะมีการออกรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในวันนี้ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล
+ นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงสนับสนุนจากสถานการณ์ไฟป่าที่เมืองฟอร์ต แม็คเมอร์เรย์ประเทศแคนาดา ที่ยังคงลุกลามต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัท Suncor Energy ต้องอพยพคนงานออกจากพื้นที่ราว 4 พันคน และในขณะนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลงไปราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- การเจรจายุติความขัดแย้งภายในประเทศลิเบียระหว่างผู้ผลิตน้ำมันฝั่งตะวันตกและตะวันออกยังคงไม่คลี่คลายแต่อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าลิเบียน่าจะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบที่ท่าเรือ Marsa El Hariga ได้ตามปกติหลัง
จากที่ท่าเรือถูกปิดมากว่า 2 สัปดาห์
+ รายงานประจำเดือนของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) ระบุว่าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศซาอุดิอาระเบียลดลงมาสู่ที่ระดับ 7.541 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 7.553 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณอุปทานในภูมิภาคยังคงมีมากอยู่เนื่องจากผู้ผลิตบางรายหันมาผลิตน้ำมันเบนซินเพิ่มมากขึ้นจากค่าการกลั่นที่ดีกว่า ประกอบกับประเทศจีนมีการส่งออกที่เพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย เนื่องจากคาดการณ์ว่าในเดือนมิถุนายนโรงกลั่นที่ปิดซ่อมบำรุงไปจะกลับมาดำเนินการตามปกติ อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลและสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อน
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 43-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 44-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ความไม่สงบในประเทศไนจีเรียที่ส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบเดือน พ.ค. แตะระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปีที่ 1.69 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลัง Shell อพยพคนงานออกจากแหล่งผลิตน้ำมัน Bonga (กำลังการผลิต 90,000 บาร์เรลต่อวัน) เนื่องจากถูกโจมตี ขณะที่ Chevron เองก็หยุดการผลิตน้ำมันในแหล่ง Okan (กำลังการผลิต 35,000 บาร์เรลต่อวัน) ด้วย
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะลดลงต่อหลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ รายงานโดย EIA ณ วันที่ 6 พ.ค. ปรับตัวลดลงกว่า 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 8.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน
จับตาว่าการผลิตน้ำมันดิบแคนาดาจะกลับมาเป็นปกติได้เร็วแค่ไหน หลังสถานการณ์ไฟป่าที่ประเทศแคนาดาเริ่มคลี่คลาย ซึ่งก่อนหน้านี้เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทน้ำมันรวมทั้งสิ้นกว่า 11 รายมีการลดกำลังการผลิตลงไปกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน