- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 13 May 2016 09:47
- Hits: 2827
ปตท. ได้ดำเนินการแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว
นายชวลิต พันธ์ทอง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีความเห็นถึงกรณีการแบ่งแยกทรัพย์สินไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และมีการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีนั้น ปตท. ขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและมติคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งได้นำเสนอข้อมูลทรัพย์สินของ ปตท. ทั้งก่อนและหลังการแปรรูป ต่อศาลฯ เพื่อประกอบการพิจารณา โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งหลายครั้งว่า ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ศาลฯ ได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 อนึ่ง ปตท. ไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้รัฐเกินกว่าคำพิพากษาของศาลฯ ได้
ส่วนในกรณีที่ว่า ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 นั้น ใคร่ขอชี้แจงว่า ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามมติ ครม. แล้ว โดย ครม. ได้มอบหมายให้ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการโดยไม่ต้องรายงาน ครม. ก่อนแต่อย่างใด จนเมื่อดำเนินการเรียบร้อย กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานจึงได้รายงาน ครม. เพื่อทราบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 โดย ครม. ไม่มีความเห็นแย้งใดๆ
นอกจากนี้ ในส่วนที่ คตง./ สตง. มีความเห็นว่า ปตท. มิได้รอความเห็นของ สตง. ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลฯเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 นั้น ขอชี้แจงว่า ปตท. ได้นำส่งข้อมูลบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดให้ สตง. พิจารณาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2551 ซึ่ง สตง. มิได้มีความเห็นกลับมายัง ปตท. แต่อย่างใด และตามที่มีการกล่าวอ้างว่า ได้ส่งรายงานฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ให้แก่ ปตท. แจ้งว่า ปตท. ยังคืนท่อก๊าซฯ ไม่ครบนั้น ปรากฏว่า รายงานดังกล่าว เป็นเพียงเอกสารแนบท้ายหนังสือของ สตง. ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 เท่านั้น ซึ่ง ปตท. ไม่เคยได้รับมาก่อน โดย สตง. นำส่งให้แก่ ปตท. ศาลฯ และหน่วยงานอื่นๆ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ศาลฯ มีคำสั่งแล้วและเป็นวันที่หมดเขตการขยายเวลาแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำสั่งศาลฯ
ทั้งนี้ สตง. ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง ปตท. และศาลฯ อีกครั้งหนึ่ง ระบุว่า “การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ ปตท. ให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่จะพิจารณา ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นยุติ” ซึ่ง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 สำนักงานศาลปกครองสูงสุด ได้มีหนังสือตอบ สตง. กรณีอ้างว่า ปตท. ยังคืนท่อก๊าซฯ ไม่หมดนั้น ศาลได้พิจารณาข้อมูลของ สตง. ทั้งสองฉบับแล้ว โดยสรุปว่า “ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามคำพิพากษาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และรายงานให้ศาลฯทราบ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
“ปตท. ขอยืนยันอีกครั้งว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินเป็นไปตามคำพิพากษาและหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มิได้มีการลัดขั้นตอนตามความเห็นของคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินแต่ประการใด คำพิพากษา คำวินิจฉัย และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดย่อมถือเป็นยุติ และไม่อาจมีบุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดจะมีอำนาจกลับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้
อีกทั้ง ข้าราชการ และ/หรือ พนักงาน ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยสุจริต มิได้มีการแสวงหาประโยชน์หรือกระทำการประพฤติมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐแต่ประการใด” นายชวลิตฯ กล่าวย้ำในตอนท้าย
คตง.ส่ง ป.ป.ช.เชือดอาญาส่งคืนท่อก๊าซไม่ครบ ผู้ว่า สตง.ระบุหมอเลี้ยบ-ประเสริฐต้องรับผิดชอบ
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) สรุปผลรายงานการตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 ในยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการส่งคืนส่งคืนท่อก๊าซ ของ บมจ.ปตท. (PTT) พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการฝ่าฝืนมติ ครม.และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการส่งคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วนทั้งบนบกและทางทะเล มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาทตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้ คตง.มีมติให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดทางอาญากับอดีต รมว.คลัง และ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวม 6 คน
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า บุคคลที่จะต้องรับผิดชอบกับกรณีนี้ทั้ง 6 คน ได้แก่ นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT, นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งปฏิบัติราชการแทนอธิบดีธนารักษ์ในขณะนั้น, นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย ของ PTT ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานกฎหมาย ปตท.ในขณะนั้น รวมทั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงการคลังในขณะนั้น
"คตง.มีมติชี้ ปตท.แบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติ ครม.เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สินซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง"คตง.แถลงบ่ายวันนี้
นายพิศิษฐ์ เปิดเผยว่า คตง.เห็นพ้องกับผลการตรวจสอบของ สตง.ว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ให้นายกรัฐมนตรี, รมว.พลังงาน และ ปตท. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.นี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
แต่จากการตรวจสอบของ สตง.พบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ ตามคำพิพากษา โดยการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มิได้ถูกนำเสนอให้ ครม.พิจารณาก่อนการลงนามบันทึกการแบ่งแยกฯ ตลอดจนมิได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม.พิจารณาก่อนการยื่นคำร้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.51 และ ไม่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เข้ามีส่วนร่วมในการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ
นอกจากนั้น การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติ ครม. เพราะจากการตรวจสอบของ สตง.พบว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ของการปิโตรเลียมฯ มิใช่เป็นกรณีที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการตามที่มติ ครม.กำหนด และมิได้ให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง
สำหรับกรณีท่อก๊าซในทะเลซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกันนั้น โดย สตง. ได้มีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานทราบ ซึ่งเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด แต่ ปตท.กลับยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดโดยไม่มีการนำเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาให้มีข้อยุติ
รวมทั้งการจัดทำบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีการเสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ แต่กลับมีกระบวนการเสนอให้ใช้อำนาจของ รมว.คลังในขณะนั้นเห็นชอบร่างบันทึกฯ ทั้งที่มิใช่บุคคลตามบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และครม.มิได้มอบหมายหน้าที่ให้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและเป็นไปโดยมิชอบ นอกจากนี้ กระบวนการจัดทำร่างบันทึกฯ ก็มิได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
ขณะที่การเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด โดยมิได้รอผลรายงานการตรวจสอบของ สตง. เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ร่วมกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สิน และในประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลยังมีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ แต่ในคำร้องดังกล่าวมิได้ระบุถึงเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้ศาลปกครองสูงสุดได้รับทราบข้อเท็จจริง และไม่ได้รายงานว่าประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลนั้น มิได้นำเสนอให้ ครม.พิจารณา
การยื่นคำร้องโดยการกล่าวอ้างข้อความดังกล่าว เป็นผลให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงวันที่ 26 ธ.ค.51 ว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" ดังนั้น การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นการกระทำโดยมิชอบ
“การที่ ปตท.ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.51 โดยไม่ปรากฏการแบ่งแยกทรัพย์สิน มูลค่า 32,613.45 ล้านบาทให้แก่รัฐ รวมทั้งไม่ได้รายงานทรัพย์สินที่จะแบ่งแยกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน ทำให้มีทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคงเหลือที่ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายขั้นต้นไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.54 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สินซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง"ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว
ทั้งนี้ คตง.มีมติให้ สตง.แจ้ง ครม.ให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่าการบังคับคดีที่ผ่านมายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามคำบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ ครม.ดำเนินการเพื่อให้มีการส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป พร้อมทั้งแจ้งนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
รวมทั้ง ให้แจ้ง รมว.คลังเพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง แจ้ง รมว.พลังงานเพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัยตามกฎหมายหรือตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนดแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง แจ้งผลการตรวจสอบให้ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ก.พ. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
และแจ้งผลการตรวจสอบให้เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แก่บุคคลที่กระทำความผิดต่อไป
อินโฟเควสท์