- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 10 May 2016 13:36
- Hits: 1947
ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังเหตุการณ์ไฟไหม้ที่แคนาดาและปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ. ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2559
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 41-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 42 – 48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 - 13 พ.ค. 59)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะทรงตัวต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์ไฟป่าในประเทศแคนาดาที่ส่งผลให้บริษัทน้ำมันหลายรายลดกำลังการผลิตลงและสถานการณ์ความขัดแย้งในลิเบียที่อาจส่งผลให้ปริมาณการผลิตปรับลดลงต่อเนื่องจากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดันจากนักลงทุนบางส่วนที่เริ่มเทขายทำกำไรหลังราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมาค่อนข้างมาก
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินยังคงมีแนวโน้มที่จะไม่คลี่คลายในเร็วนี้ หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากอิหร่านและอิรัก โดยอิหร่านตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตจากปัจจุบันที่ประมาณ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ให้กลับไปอยู่ที่ระดับเดิมก่อนถูกคว่ำบาตรที่ประมาณ 4 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้ และอิรักยังคงเพิ่มปริมาณการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ ซาอุดิอาระเบียยังคงกลยุทธ์ในการคงปริมาณการผลิตในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดและจะปรับเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 10.2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปอยู่ที่ระดับ 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงฤดูร้อน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตของคูเวตที่ปรับลดลงไปก่อนหน้านี้ อาจจะกลับมาสู่ระดับปกติในเดือนมิ.ย.
จับตาสถานการณ์ไฟป่าในเมืองฟอร์ต แม็คเมอร์เรย์ รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา หลังล่าสุดเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนรวมทั้งสิ้นกว่า 1,600 หลังและทางการต้องสั่งอพยพประชาชนประมาณ 80,000 คน ออกจากพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้บริษัทน้ำมันรวมทั้งสิ้นกว่า 5 รายต้องลดกำลังการผลิตลงและทำการหยุดผลิตไปชั่วคราว ซึ่งจากการประเมินพบว่ากำลังการผลิตลดลงแล้วกว่า 422,000 บาร์เรลต่อวัน
ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในลิเบียระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย หลังล่าสุดบริษัทน้ำมันของรัฐบาลฝั่งตะวันออกห้ามบริษัทน้ำมันของรัฐบาลในฝั่งตะวันตก ส่งออกน้ำมันดิบที่ท่าเรือ Hariga ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของประเทศ โดยบริษัทน้ำมันทางฝั่งตะวันตกประเมินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศลดลงกว่า 120,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันที่มีการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 300,000-400,000 บาร์เรลต่อวัน
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับประมาณ 8.83 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับลดลงกว่า 0.54 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ได้ชะลอการลงทุนและการผลิตน้ำมันดิบลง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนในการผลิตใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ของ Baker Hughes ที่พบว่าจำนวนแท่นขุดเจาะ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 เม.ย. ปรับลดลงต่อเนื่องอีก 11 แท่นมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี ที่ระดับ 332 แท่น
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 เม.ย. สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 543.4 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูงและโรงกลั่นบางแห่งมีการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมาปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 0.2 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 66.3 ล้านบาร์เรล
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ปริมาณการส่งออกจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน
จีดีพีไตรมาส 1/59 ของยูโรโซน และดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 - 6 พ.ค. 59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 44.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 2.81 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 45.32 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 42 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ยังล้นตลาด หลังจากที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือน เม.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 32.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณการผลิตของจากอิหร่านที่เพิ่มขึ้นหลังได้รับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ประกอบปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียที่เพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย.สู่ระดับ 10.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มได้ถึง 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงฤดูร้อนเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์น้ามันสำเร็จรูปที่ใช้ในการผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าสาหรับเครื่องปรับอากาศ