- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 04 May 2016 10:17
- Hits: 1307
ราคาน้ำมันดิบลดลงต่อหลังกำลังการผลิต OPEC มีแนวโน้มปรับเพิ่ม และการส่งออกน้ำมันดิบจากอิรักเพิ่มขึ้น
- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงเป็นวันที่สองติดต่อกันหลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศซาอุดิอาระเบียในเดือน เม.ย.อยู่ที่ระดับ 10.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มได้ถึง 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงฤดูร้อนเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้ในการผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) อยู่ที่ระดับ 32.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 32.65 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา หลังประเทศอินโดนีเซียกลับเข้าร่วมในกลุ่มประเทศโอเปก
- ขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบของประเทศอิรักในเดือน เม.ย. จากหลุมขุดเจาะทางตอนใต้ของประเทศอยู่ที่ระดับ 3.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่าเดือน มี.ค. ที่ 3.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งระดับใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในเดือน พ.ย.ที่ระดับ 3.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน
-/+ สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 29 เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 539.7 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นราว 1.7 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมาปรับเพิ่มราว 382,000 บาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังคงล้นตลาดและมีการเก็บสะสมในเรือขนส่งน้ำมันรอบประเทศสิงคโปร์ ขณะที่การนำเข้าน้ำมันเบนซินในประเทศอินโดนีเซียคาดว่าปรับตัวลดลงในเดือน พ.ค.
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานเริ่มปรับเพิ่มขึ้นหลังโรงกลั่นน้ำมันดิบกลับมาเปิดดำเนินการหลังปิดซ่อมบำรุง ขณะที่อุปสงค์การนำเข้าน้ำมันดีเซลจากประเทศซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มอ่อนตัว เนื่องจากอุปทานภายในประเทศสามารถเติมเต็นความต้องการใช้ภายในประเทศได้
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 41-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 44-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เผยการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ (ณ วันที่ 22 เม.ย.) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ของ Baker Hughes ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี ที่ 332 แท่น
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบประวัติการณ์ที่ 540.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินและปิดซ่อมบำรุงตามแผนในช่วงที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นกว่า 292,000 บาร์เรลต่อวัน
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องและส่งผลกดดันราคาน้ำมันน้อยลง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมและยังคงไม่รีบปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเร็วนี้