- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 04 May 2016 09:58
- Hits: 2536
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 25-29 เม.ย. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 2-6 พ.ค 59
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกชนิด น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 4.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% -0.50% ทั้งนี้ Fed ใช้ความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยจะรอตัวเลขเศรษฐกิจให้แน่ชัด อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์เห็นว่า Fed อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในเดือน มิ.ย. 59
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 11 แท่น มาอยู่ที่ 332 แท่น ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 52 และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 51%
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย. 59 สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6,013 สัญญา มาอยู่ที่ 243,653 สัญญา เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง3 สัปดาห์ และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน
· Shell มีแผนปรับลดค่าใช้จ่ายหลังการควบรวมกิจการกับ บริษัท British Petroleum (BG) แล้วเสร็จเพราะต้องจ่ายเงินปันผล และ Halliburton บริษัทที่ให้บริการแก่ผู้ผลิตน้ำมัน ปรับลดพนักงานอีก 6,000 ตำแหน่งในไตรมาสที่ 1/59 ทั้งยังประเมินว่าบริษัทผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ จะลดค่าใช้จ่าย 50% เพิ่มจากปีก่อนที่ลดไปแล้ว 40%
· สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีน(China Association of Automobile Manufacturers) รายงานยอดขายรถส่วนบุคคล/รถโดยสารในประเทศเดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.8% อยู่ที่ 2.44 ล้านคัน ทั้งนี้จีนเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์
สิ้นสุดวันที่ 22 เม.ย. 59 เพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 540.6 ล้านบาร์เรล
· นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นพ้องกันว่าด้วยราคาน้ำมันระดับสูงในปัจจุบันเพียงพอที่จะเอื้อให้ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ สามารถบริหารความเสี่ยงด้วยการขายสัญญาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าได้ ซึ่งจะทำให้สถานะการขาย (Short Position) เพิ่มขึ้นและกลับมากดดันราคาให้ลดลงในที่สุด ดังเห็นได้จาก EOG Resources Inc. รายงาน Securities and Exchange Commission ของสหรัฐฯ ว่าได้บริหารความเสี่ยงในลักษณะดังกล่าวปริมาณกว่า 8 ล้านบาร์เรล สำหรับไตรมาสที่ 2/59 ด้วยราคาเฉลี่ย 42.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 42.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
· สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis) รายงานอัตราการเจริญเติบโตทาง
เศรษฐกิจของสหรัฐฯ (GDP) ไตรมาสที่ 1/59 ชะลอตัวมาอยู่ที่ 0.5% ต่อปี เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งเติบโต 1.4% ต่อปีต่ำกว่าผลสำรวจของนักวิเคราะห์โดย Reuters ประเมินอัตราการเติบโตอยู่ที่ 0.7%
· Standard & Poor's (S&P) ลดระดับความน่าเชื่อถือของ Exxon Mobil Corp. ลง 1 ขั้นจาก AAA เหลือ
AA+ เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ทศวรรษ เนื่องจากความเสี่ยงว่าวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำจะทำให้ประสบปัญหาสภาพคล่องสำหรับดำเนินโครงการลงทุนและจ่ายเงินให้ผู้ถือหุ้น
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบวันที่ 29 เม.ย. 59 ปิดตลาดลดลง โดยอุปทานยังคงหลั่งไหลเข้าสู่ตลาด ล่าสุด อิรักส่งออกน้ำมันดิบจากท่าทางตอนใต้ใกล้เคียงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อิหร่านเร่งส่งออกน้ำมันดิบจนเกือบแตะระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังสิ้นสุดมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งก่อนหน้านี้มีผลให้อิหร่านส่งออกได้ไม่เกิน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับระดับสูงสุด 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2553 ลูกค้าในเอเชียที่นำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านเพิ่มขึ้น อาทิ เกาหลีใต้ที่นำเข้าจากอิหร่านเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่ามาอยู่ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ลูกค้าเก่าจากฝั่งยุโรปที่เริ่มกลับมาซื้อ นำโดยบริษัท IPLOM ของอิตาลีและบริษัท Motor Oil Hellas ของกรีซ อีกทั้งยังมีทีท่าสนใจจากบริษัท Total ของฝรั่งเศส บริษัท Cepsa ของสเปน บริษัท Hellenic Petroleum ของกรีซ บริษัท Saras และบริษัท Eni ของอิตาลี ในส่วนของความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคสัปดาห์นี้ กรอบของ ICE Brent อยู่ที่ 44-48 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI อยู่ที่ 42-46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล Dubai อยู่ที่ 40-44 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจาก บริษัท Exxon Mobil ประกาศเริ่มปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Beaumont (กำลังการกลั่น 334,600 บาร์เรลต่อวัน)ในรัฐเท็กซัส และ บริษัท Shell ปิดซ่อมบำรุงหน่วย Residue Fluid Catalytic Cracking (RFCC) ที่โรงกลั่น Deer Park (กำลังการกลั่น 340,000 บาร์เรลต่อวัน) ในรัฐเท็กซัส และ บริษัท Ceypetco ของศรีลังกา ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซินรวม 320,000 บาร์เรล ส่งมอบภายในวันที่ 30 เม.ย. 59 และ บริษัท Jordan Petroleum Refinery ของจอร์แดนออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 95 RON ปริมาณ 1.79 ล้านบาร์เรล ส่งมอบกลาง มิ.ย.-ก.ย. 59
ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 190,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.54 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.1% มาอยู่ที่ 6.31 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันเบนซินในภูมิภาคเอเชียลดลง ผนวกกับโรงกลั่นคงอัตราการกลั่นที่ระดับสูงกดดันราคาน้ำมันเบนซิน อีกทั้งกรมศุลกากรจีนรายงานจีนส่งออกน้ำมันเบนซิน เดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 11.55% มาอยู่ที่ระดับ 5.7 ล้านบาร์เรล ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55-59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงาน อุปสงค์น้ำมันดีเซลจากเวียดนาม ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ และอินเดียยังอยู่ในระดับสูง อาทิ บริษัท Petrolimex ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05% S ปริมาณ 521,500 บาร์เรล ส่งมอบครึ่งแรกของเดือน พ.ค. 59 หลังจากเพิ่งซื้อไปก่อนหน้านี้ปริมาณเดียวกัน เช่นกันกับบริษัท Saigon Petro ของเวียดนามที่ซื้อน้ำมันดีเซล 0.05% S ปริมาณ 149,000 บาร์เรล ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.54 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.02 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นวันที่ 23 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 220,000 บาร์เรล(-2.46%) มาอยู่ที่ 8.97 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามสำนักข่าว Qatar News เผยกาตาร์จะปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ โดยอ้างอิงจากราคาในตลาดโลก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการผลิตและการขนส่งในประเทศจากเดิมที่มีการกำหนดราคาระยะยาวเป็นรายเดือนโดยรัฐบาล
ทั้งนี้ กาตาร์เป็นประเทศในอ่าวเปอร์เซียล่าสุดที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ หลังจากซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อลดภาระของรัฐบาลในวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล