- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 02 May 2016 18:22
- Hits: 13560
อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม ‘IES’ ทุ่ม 5 หมื่นล.ดันวินด์ฟาร์มที่ลาวรอไทยกดปุ่มรับซื้อ
นายวรมน ขำขนิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาโครงการ มอนสูน วินด์ พาวเวอร์ ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลัง งานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ เขตเมืองดากจึง และเมืองซานเซ ในแขวงเซกองและแขวงอัตตะปือ บริเวณ ทางตอนใต้ของสปป.ลาว ถือเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย ในนามกลุ่มอิมแพค เอเนอยี่ กรุ๊ป มีบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 90% และรัฐบาลสปป.ลาว 10% โดยใช้เงินลงทุนทั้งโครงการ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสายส่งอีก 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากโครงการแล้วเสร็จจะถือเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ การเข้าไปลงทุนดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า พื้นที่ของสปป.ลาวมีศักยภาพ และมีโอกาสที่จะพัฒนาโครงการขึ้นมาได้ โดยได้ขออนุญาตจากรัฐบาลสปป.ลาวเข้าไปศึกษาและจัดทำแผนที่ลมทั่วประเทศ และเบื้องต้นคัดเลือกมา 10 จุด จนสุดท้ายเหลือเพียง 3 จุด จนมาสู่การทำบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) กับรัฐบาลสปป.ลาวในปี 2554 ที่จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ และเดินหน้าทำการวัดข้อมูลความเร็วลมมาเป็นระยะเวลา 3 ปี มีค่าเฉลี่ยความเร็วลมที่ 6 เมตรต่อวินาที ในพื้นที่ดังกล่าว ทางบริษัทจึงได้ลงนามในสัญญาการพัฒนาโครงการมาตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา
ฐานเศรษฐกิจ ข่าวประจำวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
อิมแพค เอเนอยี่ฯ ร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม 'มอนสูน วินด์ พาวเวอร์' 600 เมกะวัตต์ใหญ่ สุดในอาเซียน
บ้านเมือง : สปป.ลาว ชูโครงการมอนสูน วินด์ พาวเวอร์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่พัฒนาโดยคนไทย ว่าจะเป็นโครงการต้นแบบในอาเซียน ในการช่วยผลักดันข้อตกลง ‘COP21’หรือ ‘การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21’ ให้เป็นจริงได้
โครงการมอนสูน วินด์ พาวเวอร์ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ เมื่อสร้างเสร็จจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมืองดากจึงและเมืองซานเซ ในแขวงเซกองและแขวงอัตตะบือตามลำดับ ทางตอนใต้ของประเทศลาว เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่พัฒนาโดยคนไทย ในนามกลุ่มอิมแพค เอเนอยี่ กรุ๊ป ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด
ล่าสุด สปป.ลาวได้นำเสนอโครงการฯ ดังกล่าว ว่าเป็นโครงการต้นแบบในนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนของลาว และมีศักยภาพในการสร้างประโยชน์ในแง่ความยั่งยืนทางพลังงานให้แก่ทุกฝ่าย
ท่านจันโท มีลัตตะนะแพง รองหัวหน้าสถาบันส่งเสริมพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้กล่าวในงาน ประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ "โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559" หรือ "SETA 2016" ที่ผ่านมา ว่าศักยภาพของโครงการมอนสูน วินด์ พาวเวอร์ จะเข้ามาช่วยให้นโยบายในการพัฒนาพลังงานทดแทนของลาวก้าวหน้าต่อไป ด้วยขนาดโครงการที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ผลิตพลังงานสะอาด ขายไฟในราคาที่สมเหตุสมผล และ ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ โครงการจะมีแต่สร้างประโยชน์ ให้แก่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝั่งลาว ไทย หรืออาเซียน
ทั้งนี้ สปป.ลาวมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทน โดยการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนเข้าไปในระบบให้เป็นร้อยละ 30 ของพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศภายในปี 2568
"ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีโครงการพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ ซึ่งมีขนาดเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เอื้อต่อการพัฒนา ทางลาวจึงได้มีการเจรจากับทางรัฐบาลไทยให้พิจารณาโครงการลมขนาด 600 เมกะวัตต์นี้ ซึ่งจะช่วยรัฐบาลไทยและลาวในเรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก"
นอกจากนี้ นายวีระพล วีระวงศ์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ยังกล่าวว่า "เงินสมทบ (subsidy) อาจช่วยกระตุ้นให้พลังงานทดแทนเกิด แต่มันไม่ยั่งยืน วิธีที่ยั่งยืนคือการทำให้โครงการสามารถแข่งขันในเชิงพาณิชย์กับพลังงานแบบเดิมได้ ซึ่งโครงการลมโครงการนี้ทำได้ และทำได้ดีขึ้นเพราะ นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย" นายวีระพล วีระวงศ์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว กล่าว
ในความตกลงจากการประชุม COP21 ที่ปารีส เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2558) ไทยและลาวได้ลงนามร่วมกับอีก 144 ประเทศทั่วโลก เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส โดยประเทศไทยได้แสดง เจตจำนงในการประชุม COP21 ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 ลงร้อยละ 20-25 เทียบกับปี 2554 หรือคิดเป็นจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ต้องลดถึง 111-139 ล้านตัน ด้วยขนาด 600 เมกะวัตต์ โครงการมอนสูน วินด์ พาวเวอร์จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 67 ล้านตัน ตลอดระยะเวลาโครงการ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อข้อตกลง รับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากธนาคารโลก เป็นจำนวนเงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในฐานะประเทศภาคี "โครงการศึกษาการเตรียมความพร้อม ด้านกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก" หรือ Partnership for Market Readiness (PMR) ซึ่งไทยมีหน้าที่ต้องออกมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้สำเร็จตามที่วาแผนไว้
"นี่คือเรื่องที่เรากำลังหารือกับทางรัฐบาลไทย โครงการนี้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หลายล้านตันตลอดอายุโครงการ 25 ปี และ ถ้าโครงการนี้เกิด ก็เป็นเพราะประเทศไทยให้ ความร่วมมือเป็นอย่างดี" นายวีระพล กล่าวทิ้งท้าย
จากสถิติของธนาคารโลก ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 22 ของโลก และเป็นอันดับที่ 5 ในเอเชียแปซิฟิกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากที่สุดในไทยคือภาคพลังงาน
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมมอนสูน วินด์ พาวเวอร์ (โครงการฯ) ที่แขวงเซกอง และแขวงอัตตะบือ สปป.ลาว ได้ดำเนินการพัฒนาโดยกลุ่มบริษัทในเครือ บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด (IES) ในปี พ.ศ.2554 โดยทาง IES ได้ทำบทบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding- MOU) กับรัฐบาล สปป.ลาว ในการเข้าทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งหลังจากได้ทำการวัดข้อมูลลมเป็นระยะเวลามากกว่า 3 ปี และได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการฯ ร่วมกับที่ปรึกษาชั้นนำที่เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานลม บริษัทฯ จึงได้ลงนามในสัญญาพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement-PDA) กับรัฐบาล สปป.ลาว ในวันที่ 7 สิงหาคม 2558 สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 25 ปี หลังจากขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์