- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 27 April 2016 19:38
- Hits: 3418
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มแตะระดับสูงสุดในรอบปี หลังน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ลดลงกว่าคาด
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวดีขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปี หลังสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่ 22 เม.ย. ปรับลดลง 1.1 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 538.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 2.4 ล้านบาร์เรล เนื่องจากสหรัฐฯ มีการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงประมาณ 510,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าหรือเทียบเท่ากับ 7.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอคลาโฮม่า ปรับเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล
+ นอกจากนี้ โรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ หลายแห่งที่ปิดซ่อมบำรุงทั้งตามแผนและฉุกเฉิน ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันดิบที่ยังคงดำเนินการผลิตมีความต้องการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มเพื่อผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูปให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเบนซินหลังส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินเทียบราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัสในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐฯ แตะระดับ 22.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี 2558
+ ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันดิบในประเทศเวเนซูเอล่ายังคงมีความต้องการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มเช่นกัน เพื่อใช้ในการผลิตเป็นน้ำมันเบนซินในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศ อีกทั้งยังต้องการนำเข้าสารตั้งต้นในการผลิตอย่างสาร Catalytic Naphtha ปริมาณ 300,000 บาร์เรล สำหรับการส่งมอบในช่วงเดือน พ.ค.
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้แรงหนุนจากการส่งออกน้ำมันเบนซินจากเอเชียไปยังสหรัฐฯ หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ หลายแห่งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายในเอเชียยังคงซบเซา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนี่องจากอุปทานภายในภูมิภาคยังคงตึงตัวหลังมีการนำเข้าน้ำมันดีเซลในปริมาณที่ลดลง นอกจากนี้ อุปสงค์ในเอเชียยังปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศอียิปต์มีส่วนช่วยสนับสนุนราคา
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 39-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 40-46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 26-27 เม.ย. นี้ ว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25-0.50% ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า Fed จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมประจำเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลดลงสู่ระดับ 8.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบได้ชะลอการลงทุนและผลิตน้ำมันดิบลง จากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ
ภาวะอุปทานล้นตลาดยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลาย หลังจากการประชุมระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ได้เสร็จสิ้นลง โดยที่ผู้ผลิตน้ำมันดิบไม่สามารถตกลงกันได้