- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 18 April 2016 17:22
- Hits: 2198
ราคาน้ำมันดิบปรับร่วง หลังนักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่าการประชุม ณ เมืองโดฮาจะช่วยแก้ไขสถานการณ์อุปทานน้ำมันล้นตลาดได้
- ราคาน้ำมันดิบในวันศุกร์ปรับตัวลดลง หลังนักลงทุนและนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกรวม 15 ประเทศจะไม่สามารถตกลงกันได้ที่จะคงระดับการผลิตไว้ในการประชุมในวันที่ 17 เม.ย. นี้ ณ เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ทำให้ตลาดน้ำมันดิบยังคงมีอุปทานส่วนเกินประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากแรงขายเพื่อทำกำไรจากกองทุนและนักลงทุนต่างๆ หลังจากราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นจากแรงสนับสนุนจากข่าวการประชุมผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกรวม 15 ประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
+ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงสนับสนุนจากรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ของ Baker Hughes ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้ปรับตัวลดลง 3 แท่นลงมาแตะที่ระดับ 351 แท่น ซึ่งเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สี่ และเป็นระดับจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่น้อยที่สุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นต้นมา
+ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงสนับสนุนจากดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเทียบค่าเงินดอลลาร์กับตะกร้าสกุลเงิน (ยูโร เยน ปอนด์ ดอลลาร์แคนาดา โครน และฟรังส์) ที่ปรับตัวอ่อนค่าลง ส่งผลให้ผู้ถือเงินสกุลอื่นสามารถซื้อน้ำมันดิบได้ที่ราคาต่ำลง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานน้ำมันเบนซินยังคงล้นตลาดในภูมิภาค นอกจากนี้ราคาน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงกดดันจากการกลับมาดำเนินการของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไต้หวันอีกด้วย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย เนื่องจากตลาดยังคงมีอุปทานส่วนเกิน อย่างก็ดีการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นหลายแห่งในภูมิภาคยังช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 36-42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 38-44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 21 เม.ย. นี้ว่า ECB จะมีการพิจารณาการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ ECB ลงมติเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์รายเดือนเป็น 8 หมื่นล้านยูโร (ราว 3.06 ล้านล้านบาท) จากเดิม 6 หมื่นล้านยูโร
ติดตามสถานการณ์ที่คูเวต หลังสหภาพแรงงานน้ำมันประท้วงรัฐบาลในประเด็นการปรับลดอัตราค่าจ้าง และแผนการแปรรูป ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของคูเวตปรับลดลงกว่าร้อยละ 60 มาอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26-27 เม.ย. นี้ ว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากเดิมที่ 0.25 – 0.50% หรือไม่ โดยตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากยังคงกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง