- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 11 April 2016 22:32
- Hits: 5929
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 4-8 เม.ย. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 11-15 เม.ย. 59
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันรายสัปดาห์ปรับตัวลดลงทุกชนิด น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 35.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.67เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 2.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานยอดผลิตน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 30,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี
· Reuters รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านสู่อินเดียเดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 135 % ปริมาณการส่งออกที่มากขึ้นชี้ให้เห็นว่าการกลับมาแย่งส่วนแบ่งตลาดของอิหร่านประสบผลสำเร็จ
· ผู้บริหารบริษัทน้ำมัน South Oil Company ของอิรักนาย Basim Abdul Kareem เผยปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของอิรักจากท่าส่งออกทางตอนใต้ของประเทศในเดือน เม.ย. 59 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 210,000 บาร์เรลต่อวัน
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 เม.ย. 59 สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 21,831 สัญญา มาอยู่ที่ 177,504 สัญญา เป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 3 เดือนและลดลงต่อเนื่อง 2 สัปดาห์หลังเพิ่มขึ้นติดต่อกันมา 6 สัปดาห์
· Bloomberg รายงานภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเติบโตต่ำกว่าที่คาดหลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ (New orders for manufactured goods) เดือน ก.พ. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 1.7% แสดงปริมาณการสั่งสินค้าลดลง และผนวกกับสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าในเดือน ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 979 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ที่ 45,677 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 529.9 ล้านบาร์เรล ลดลงครั้งแรกในรอบ 8 สัปดาห์ สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล
· Reuters รายงานแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Brent, Forties, Oseberg และ Ekofisk (BFOE) ในทะเลเหนือจะปิดซ่อมบำรุงในเดือน พ.ค. 59 ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลงมาอยู่ที่ 918,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน โดยปริมาณการส่งมอบน้ำมันดิบ Ekofisk ในเดือน พ.ค. 59 จะลดลง 48,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 252,000 บาร์เรลต่อวัน
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8 rig มาอยู่ที่ 354 rig ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 อนึ่ง จำนวน Rig ในมลรัฐเท็กซัสลดลงต่ำกว่า 200 rig เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent และ NYMEX WTI ดีดตัวขึ้นกว่า 6% จากแรงส่งของปริมาณสำรองน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กระตุ้นความคาดหวังว่าคลังสำรองน้ำมันดิบที่สหรัฐฯ จะเริ่มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย. 59 เป็นต้นไป ดังที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ ทั้งนี้ในช่วงเดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 39-42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่ในสัปดาห์ก่อน ICE Brent หลุดลงมาทดสอบแนวรับที่ระดับ 37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ก่อนทะยานขึ้นมาทดสอบแนวต้านที่ระดับ 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในต้นสัปดาห์นี้
รูปการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มสอดคล้องกับที่ Goldman Sachs ซึ่งได้ชี้ว่าในไตรมาสที่ 2/59 ราคาน้ำมันจะผันผวนและแกว่งตัวอย่างไร้ทิศทางในกรอบ 25-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทว่ากรอบจะกว้างเช่น Goldman Sachs คาดไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงเชิงลบจะรุนแรงหรือไม่ เมื่อปัจจัยบวกระยะสั้นหมดไป (ปัจจัยบวกในปัจจุบัน โดยหลักเป็นปัจจัยระยะสั้นที่เกิดขึ้นชั่วคราวเช่นอุปทานที่ขาดหายไปจากแหล่งผลิตในทะเลเหนือของสหราชอาณาจักร แอฟริกาตะวันตกและอิรัก) ในทางตรงกันข้าม หากคลังสำรองน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงติดต่อกันและการประชุมของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ณ กรุงโดฮา ของกาตาร์ในวันที่ 17 เม.ย. 59 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 18 ประเทศ ได้ผลเป็นรูปธรรม อาจทำให้ราคายืนอยู่ที่ระดับประมาณ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เม็กซิโกและเวเนซุเอลาพบปะหารือกันล่วงหน้า ณ เมืองกีโต ของเอกวาดอร์ พร้อมเรียกร้องให้ชาติผู้ผลิตน้ำมันดิบร่วมมือกันเพื่อกอบกู้วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ ด้านอิหร่านอาจเข้าร่วมการประชุมแต่ยังคงยืนกรานผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนหลังมาตรการคว่ำบาตรยุติลง นอกจากนี้ ให้จับตาการประกาศอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนไตรมาสที่ 1/59 และให้ติดตามมุมมองของ OPEC และ IEA ในรายงานรายเดือนที่จะเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่า ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 37-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล , Nymex WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35-41 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ ดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33-39 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลงจาก กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่นคาดการณ์ยอดขายน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศปีงบประมาณ 2559 (เม.ย. 59-มี.ค. 60) จะลดลงจากปีก่อน 1.6% มาอยู่ที่ 2.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Platts รายงาน อุปทานน้ำมันเบนซินล้นตลาดเอเชีย ผู้ค้าในเอเชียเหนือและตะวันออกกลางต่างออกประมูลขายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันของจีนที่รัฐบาลอนุมัติโควตาส่งออกน้ำมันเบนซินครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2559 ปริมาณรวม 29.2 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า จากโควตาส่งออกช่วงเดียวกันปีก่อน อีกทั้ง Platts คาดอินโดนีเซียจะลดปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน พ.ค.59 เพื่อเก็บสำรองก่อนเทศกาลถือศีลอดหรือเทศกาลรอมฎอนในเดือน มิ.ย. 59 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเพราะปริมาณการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านปริมาณสำรอง Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 2 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 30,000 บาร์เรล หรือ 0.3 % อยู่ที่ 10.6 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานการซื้อขายน้ำมันเบนซินที่ตลาดสิงคโปร์คึกคัก โดยวันที่ 5 เม.ย. 59 มีการซื้อขายปริมาณ 300,000 บาร์เรล และในเดือน เม.ย. 59 มีปริมาณรวมกว่า 3.3 ล้านบาร์เรล สูงสุดในปี 2559 ประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 110,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.69 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ โดยสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 49-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงรัฐบาลจีนอนุมัติโควตาส่งออกน้ำมันดีเซลครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2559 ปริมาณรวม 42.5 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้น 3.5 เท่า จากโควตางวดเดียวกันปีก่อน และ Goldman Sachs รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนในครึ่งหลังของปี 2558 อยู่ที่ 216,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกของปี 134,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม Reuters ประเมินอินเดียส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน มี.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.9 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ Reuters ประเมินว่ายอดส่งออก Ultra-Low Sulphur Diesel (ULSD) ของรัสเซียจากท่าส่งออก Primorsk ชายฝั่งทะเลบอลติก ในเดือน เม.ย. 59 จะลดลงจากเดือนก่อน 300,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.01 ล้านบาร์เรล ขณะที่ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 2 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ 900,000 บาร์เรล หรือ 10.6 % อยู่ที่ 8.3 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 520,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.50 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 40-46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล