- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 15 July 2014 19:46
- Hits: 3036
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม เนื่องจากความรุนแรงในลิเบียและอิรักยังคงคุกรุ่น
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัวในลิเบีย โดยล่าสุดกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้เข้ายึดท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบขนาดเล็กทางตะวันออกของลิเบีย ซึ่งมีขนาด 43,000 บาร์เรลต่อวัน ถึงแม้ว่าท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่สองท่าจะสามารถกลับมาดำเนินการได้ในช่วงที่ผ่านมาและทำให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 470,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี ปริมาณการส่งออกดังกล่าวยังถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับกำลังการผลิตในช่วงกลางปี 2556 ที่อยู่ที่ราว 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+ ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของอิรักที่มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ผ่านมายังคงไม่มีความคืบหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติให้มีการเร่งแต่งตั้งผู้บริหารประเทศชุดใหม่ โดยให้มีการเลือกประธานรัฐสภา เพื่อเปิดประชุมสภาเลือกประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อรับมือกับกลุ่มกบฏนักรบ ล่าสุดกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (IS) ยังคงเดินหน้าประกาศสงครามกับรัฐบาลอิรักและซีเรีย โดยล่าสุดกลุ่มดังกล่าวยังคงโจมตีและยึดครองครองดินแดนบางส่วนในสองประเทศ
-/+ จับตาการเจรจากรณีการสะสมนิวเคลียร์ในอิหร่าน ซึ่งการลดระดับการคว่ำบาตรจากนานาชาติต่ออิหร่านเป็นเวลา 6 เดือนจะครบกำหนดในวันที่ 20 ก.ค.นี้ หากการเจรจาประสบความสำเร็จคาดว่าจะมีการผ่อนปรนการคว่ำบาตรต่ออิหร่านมากขึ้น และทำให้ความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบอิหร่านลดลง
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหภาพยุโรปในเดือน พ.ค.ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.1% ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ปรับลดลง 0.1% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปยังคงเปราะบางอยู่
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงใกล้เคียงกับราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในอินเดีย เนื่องจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นช่วงฤดูร้อนและการปิดซ่อมบำรุงทั้งตามแผนและกระทันหันของโรงกลั่นหลายแหล่งในประเทศ
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในออสเตรเลียที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่ยุโรปปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 สัปดาห์
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 100-107 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106 -112 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดแหล่งผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ El Sharara ซึ่งมีกำลังผลิต 340,000 บาร์เรลต่อวัน และท่าเรือหลัก El Sider และ Ras Lanuf กลับมาเปิดใช้การได้อีกครั้ง แม้อาจต้องใช้เวลาในการซ่อมบำรุงท่อส่งน้ำมันและอุปกรณ์การส่งออกน้ำมันต่างๆ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าการส่งออกลิเบียอาจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ความไม่แน่นอนของการปะทะกันระหว่างกองทัพรัฐบาลยูเครนกับกบฎแบ่งแยกดินแดนฝักฝ่ายรัสเซียในยูเครนตะวันออกว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังตัวแทนรัฐบาลยูเครนย้ำไม่ยอมหยุดยิงฝ่ายเดียวอีกต่อไป ขณะที่แกนนำของกบฎแบ่งแยกดินแดนฝักฝ่ายรัสเซียในยูเครนยังคงเตรียมตัวตอบโต้กลับกองทัพยูเครนอย่างต่อเนื่อง
แม้ความรุนแรงในอิรักที่ลดความรุนแรงลงและไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดิบทางตอนใต้ของประเทศแต่ปัญหาการแยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระของชาวเคิร์ด ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิรักอาจส่งผลให้ตลาดกลับมากังวลเรื่องอุทานน้ำมันดิบอิรักอีกครั้ง โดยปัจจุบันการส่งออกน้ำมันดิบจากบริเวณเคอร์ดิสถานอยู่ที่ราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน
เหตุการณ์ความรุนแรงในฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ ล่าสุดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และสร้างความกังวลว่าเหตุการณ์จะบานปลายไปยังบริเวณอื่นในตะวันออกกลาง ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเรียกร้องทุกฝ่ายยุติการยิง