- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 04 April 2016 22:44
- Hits: 4014
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 28 มี.ค. - 1 เม.ย. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 4-8 เม.ย. 59
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงทุกชนิด น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 35.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 38.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ราคาเฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 2.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Bloomberg รายงาน บริษัท Trafigura ส่งออกน้ำมันดิบ WTI ของสหรัฐฯ เที่ยวที่ 3 ในปีนี้ ปริมาณ 380,000 บาร์เรล ให้กับโรงกลั่น Manref (กำลังการกลั่น 20,000 บาร์เรลต่อวัน) ในประเทศนิคารากัวของบริษัท Puma Energy โดยใช้เรือขนาด Panamax ขนส่งผ่านคลองปานามา
· Reuters รายงานการส่งมอบน้ำมันดิบจากทะเลเหนือเดือน มี.ค. 59 ปริมาณ 2.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 370,000 บาร์เรลต่อวัน) ขณะที่อิรักส่งออกที่ 3.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ 1-23 มี.ค.59 ใกล้กับปริมาณสูงสุด 3.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย.58
· คูเวตและซาอุดีอาระเบียตกลงที่จะกลับมาดำเนินการแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Khafji (กำลังการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน) บริเวณเขตพื้นที่ร่วม (Neutral Zone) ที่ปิดไปตั้งแต่เดือน ต.ค. 57 ทั้งนี้คาดว่าแหล่งผลิตดังกล่าวจะต้องใช้เวลา 3 – 6 เดือนเพื่อกลับมาดำเนินการผลิตที่ระดับ 200,000 บาร์เรลต่อวัน
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 มี.ค.59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 534.8 ล้านบาร์เรล
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 มี.ค. 59 สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 15,892 สัญญา มาอยู่ที่ 199,335 สัญญา ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณว่านักลงทุนเริ่มเทขายทำกำไร
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 เม.ย.59 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 10 แท่น มาอยู่ที่ 362 แท่น ต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี และจำนวนรวมแท่นผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ลดลงต่อเนื่อง 15 สัปดาห์สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 76 ปี อยู่ที่ 450 แท่น
· นักวิเคราะห์ของ Standard Chartered ระบุ Apparent Oil Demand (อุปสงค์น้ำมันที่คิดจากปริมาณน้ำมันดิบที่เข้าสู่กระบวนการกลั่นและปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป) ของจีนปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.2% มาอยู่ที่ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประเมินปี 2559 จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.5% ทั้งนี้การบริโภคน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของจีนคิดเป็น 30% ของอัตราการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันของโลก
· นาง Janet Yellen ประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯ เผย Fed ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากระดับเงินเฟ้อไม่ดีพอที่จะมั่นใจในการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ Fed รายอื่นจะออกมาให้มุมมองว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน เม.ย. 59
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเริ่มมีสัญญาณลดลง เห็นได้จาก ICE Brent ซึ่งแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 39-42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในเดือนที่ผ่านมา ล่าสุดทะลุลงมาต่ำกว่า 39 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล (10:00 น. วันที่ 4 เม.ย. 59 อยู่ที่เหนือระดับ 38 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เล็กน้อย และมีแนวโน้มร่วงลงไปทดสอบแนวรับที่ 37เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล) นอกจากนี้ สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) น้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณว่านักลงทุนเริ่มเทขายทำกำไร ส่วนความเคลื่อนไหวด้านการประชุมระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกทั้งในและนอก OPEC ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ในวันที่ 17 เม.ย. 59 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของคูเวต นาย Anas al-Saleh ยืนยันเข้าร่วมประชุมเพื่อหาฉันทามติร่วมกันอันนำไปสู่เสถียรภาพของตลาด
แม้ก่อนหน้านี้ มกุฎราชกุมาร Mohammed bin Salman ของซาอุดีอาระเบียจะให้สัมภาษณ์ว่าซาอุฯ จะไม่เข้าร่วมข้อตกลงคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบหากอิหร่านไม่เข้าร่วม ซึ่งคำสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ฉุดราคาน้ำมันให้ดิ่งลง ความเคลื่อนไหวสำคัญด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ทั่วโลกจับตา คือ การลงประชามติแยกสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 23 มิ.ย. 59 อาจกระทบต่อการค้าน้ำมันดิบด้วย เนื่องจากตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เกาหลีใต้ ซึ่งนำเข้าน้ำมันดิบ Forties จากแหล่งทะเลเหนือเป็นจำนวนมาก มีข้อตกลงการค้าเสรี (Free-Trade Agreement: FTA) กับ EU อันทำให้เกาหลีใต้นำเข้าน้ำมันดิบจาก EU โดยไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น หากสหราชอาณาจักรแยกตัวออกมา จะต้องเสียภาษีศุลกากร 3% ซึ่งอาจทำให้เกาหลีใต้นำเข้าน้อยลง ทั้งนี้ เกาหลีใต้มิได้นำเข้าน้ำมันดิบจากนอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่จากแหล่งทะเลเหนืออีกรายแต่มิได้เป็นสมาชิก EU ทางเทคนิคคาดว่า ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 38-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 36-41 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34-39 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลงจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ในประเทศ 11.03% จากการปรับขึ้นครั้งก่อนหน้าเมื่อเดือน ส.ค. 58 มาอยู่ที่ 1.51 Dirham/ลิตร (0.41 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล) ตามนโยบายยกเลิกการให้เงินสนับสนุนราคาขายปลีก ประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 30 มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 69,000 บาร์เรล อยู่ที่ 14.8 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม National Development and Reform Commission (NDRC) ของจีนรายงานการบริโภค น้ำมันเบนซินในเดือน ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.3% ขณะที่ปริมาณรวมเดือน ม.ค.-ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.2% นอกจากนี้ผู้ค้าคาดอุปสงค์น้ำมันเบนซิน 0.005%S ของอิหร่านอาจสูงสุดในรอบปี ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ เริ่มตั้งแต่ 21 มี.ค. 59 เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ด้านปริมาณสำรอง PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ บริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.5% มาอยู่ที่ 9.71 ล้านบาร์เรล และสำนักข่าว Xinhua ของจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ เดือน ก.พ. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 7.2 % มาอยู่ที่ 56.9 ล้านบาร์เรล โดยสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากข่าว Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียมีอุปทานสูง ขณะที่อุปสงค์เบาบาง อาทิ Oil Industry Pipeline Co-ordination Secretariat ของเคนยาปรับลดปริมาณการออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ส่งมอบ เม.ย.- พ.ค. 59 ลง 200,000 บาร์เรลจากเดือน มี.ค.- เม.ย. 59 มาอยู่ที่ 2.2 ล้านบาร์เรล ในขณะที่สำนักข่าว Xinhua ของจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ เดือน ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 38.3 % อยู่ที่ 85.5 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 55 และ นักวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน JBC Energy คาดการณ์ตลาด Distillates ทั่วโลกในไตรมาส 2/59 จะถูกกดดันจากอุปสงค์โลกอ่อนแอจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 มี.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 161.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ บริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.1% มาอยู่ที่ 26.25 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 30 มี.ค. 59 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 600,000 บาร์เรล อยู่ที่ 13.0 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล