- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 25 March 2016 14:12
- Hits: 2583
กพช.เลื่อน COD โซลาร์ฟาร์มราชการฯเป็นภายใน 31 ธ.ค.59,ต่ออายุโซลาร์ค้างท่อ
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติการเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ (MW) เป็นภายในวันที่ 31 ธ.ค.59 จากเดิมที่ต้อง COD ภายใน ก.ย.59 หลังจากที่ล่าสุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อย (คสช.) ได้ใช้ม.44 ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองแล้ว
หลังจากนี้ทาง กกพ.ก็จะกลับไปพิจารณาคัดเลือกผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นของโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯอีกครั้งว่าโครงการใดที่จะได้รับการยกเว้นข้อบังคับการใช้กฎหมายผังเมืองดังกล่าว และมีสิทธิเข้าร่วมจับสลากในโครงการนี้ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติอีกครั้งและคาดว่าจะมีการจับสลากโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯได้ในช่วงต้นเดือนเม.ย.59
นอกจากนี้ กพช. ยังได้พิจารณาโครงการโซลาร์ฟาร์มค้างท่อที่เลยกำหนดจ่ายไฟฟ้าภายในวันที่ 30 ธ.ค.58 แล้ว ปัจจุบันคงเหลือทั้งสิ้น 96 ราย รวม 500 MW ในส่วนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณายืดระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเป็นรายๆ ไปตามที่ได้มีการยื่นอุทธรณ์มา โดยหากสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 30 เม.ย.59 จะได้รับค่าไฟฟ้าระบบ FiT ในอัตราเดิมที่ 5.66 บาท/หน่วย แต่หากจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 30 มิ.ย.จะได้รับค่าไฟฟ้าลดลง 5% เหลือ 5.77 บาท/หน่วย แต่หากเกินวันที่ 30 มิ.ย.59 จะถูกยกเลิกสัญญาทันที
กพช.ยังได้พิจารณาแนวทางแก้ปัญหาโครงการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาอาคารและบ้านเรือน (โซลาร์รูฟท็อป) ที่เปิดรับซื้อรอบแรกในปี 56 และรอบที่ 2 ในปี 58 ซึ่งยังไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามกำหนด ในส่วนนี้มีปริมาณคงเหลือ 10,000 ราย รวม 20 MW นั้น ที่ประชุมได้ขยายเวลา COD สำหรับกลุ่มปี 56 รอบที่ 1 เป็นภายใน 30 เม.ย.59 จะได้รับค่าไฟฟ้าในอัตราเดิม 6.96 บาท/หน่วย แต่ถ้าเกินระยะเวลาดังกล่าวแต่อยู่ภายใน 30 มิ.ย.59 จะได้รับค่าไฟฟ้าในอัตรา 6.85 บาท/หน่วย เท่ากับกลุ่มปี 58 รอบที่ 2 ขณะที่ผู้ผลิตในกลุ่มปี 58 รอบที่ 2 นั้นจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 30 มิ.ย.59 ซึ่งหากทุกรายไม่จ่ายไฟฟ้าภายใน 30 มิ.ย.59 นั้นจะบอกเลิกสัญญาโดยทันที
ด้านนายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า กพช.ยังได้อนุมัติโครงการนำร่องเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาจำนวน 100 MW แบ่งเป็น พื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 50 MW และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 50 MW โดยทั้งสองส่วนจะแบ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย 10 MW และ อาคารธุรกิจหรือโรงงาน 40 MW ซึ่งทางกกพ.จะจัดทำร่างหลักเกณฑ์ที่จะเปิดรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวภายในสิ้นเดือนมี.ค.59 หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในเม.ย.-มิ.ย.59 ก่อนจะออกประกาศเพื่อรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.59 และคาดว่าจะสามารถติดตั้งได้ในช่วงธ.ค.59-ม.ค.60 หลังจากนั้นจะประเมินผลเพื่อดูปริมาณการใช้ไฟต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมขยายผลเพื่อเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวในอนาคต เพราะโครงการนำร่องครั้งนี้จะยังไม่มีการซื้อขายไฟฟ้าออกมานอกระบบ แต่จะเป็นการทดลองใช้ระบบการซื้อขายไฟฟ้า โดยวิธีหักลบหน่วย (Net Metering) ซึ่งเป็นการใช้ไฟฟ้าภายในเท่านั้น
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น ล่าสุดทางกพช.เห็นชอบแนวทางให้มีการเปลียนแปลงการรับซื้อไฟฟ้า แต่หลักการให้เป็นตามที่ได้หารือในคณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไปบ้าง
"ขอไม่แถลงเรื่องนี้ แต่เป็นมติออกมาหลังจากนี้ก็จะไปหารือในคณะทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องเข้าที่ประชุมกพช.อีก อาจจะออกหนังสือเวียนไปตามหน่วยงานต่างๆ"พลเอกอนันตพร กล่าว
อินโฟเควสท์