WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กกพ.ลุยเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯเล็งเสนอ 'คสช.'ปลดล๊อคให้'บุคคลที่ 3'ใช้ท่อปตท.

   แนวหน้า : นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเรกูเลเตอร์อยู่ระหว่างร่างระเบียบเพื่อให้บุคคลที่ 3 สามารถใช้บริการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สถานีแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) และคลังของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยคาดว่าจะสามารถเสนอร่างดังกล่าวให้กับทาง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ภายในสัปดาห์หน้าจากนั้นจะเสนอไปยัง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. พิจารณาอนุมัติต่อไป

    ทั้งนี้ การร่างระเบียบขึ้นมาเพื่อต้องการใช้เป็นข้อบังคับ ที่มีผลทางกฎหมาย ในการลดการผูกขาดธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ของ ปตท. และต้องการให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจนำเข้าก๊าซ จากปัจจุบันที่ ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซเพียงรายเดียว แม้ว่าที่ผ่านมากฎหมายจะเปิดทางให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถลงทุนท่อก๊าซได้ แต่ก็ไม่มีผู้ประกอบการรายอื่นลงทุนแข่งขันกับทาง ปตท. ทำให้ปัจจุบันมี ปตท.ที่ลงทุนท่อก๊าซเพียงรายเดียว ดังนั้นหากร่างระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าก๊าซ สามารถใช้ท่อส่งก๊าซ และสถานีรับ-จ่ายก๊าซของปตท.ได้อย่างถูกกฎหมาย แต่จะคิดอัตราค่าผ่านท่อ 21.76 บาทต่อล้านบีทียู และค่าเช่าสถานีแปลงก๊าซก็มีอัตราค่าเช่าเช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้เรกูเลเตอร์จะหารือกับ ปตท.ต่อไป

    สำหรับ ประกาศระเบียบให้บุคคลที่ 3 สามารถใช้ท่อก๊าซของ ปตท. ได้แล้ว จะรวมไปถึงโครงการท่อก๊าซ ที่จะมีการลงทุนเพิ่มในอนาคตด้วย โดยผู้ประกอบการที่สนใจ จะต้องหาลูกค้าเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซ จากนั้นเมื่อนำเข้ามาแล้วจะต้องเสียค่าผ่านท่อและค่าเช่าสถานี ให้กับ ปตท. ต่อไป ส่วนข้อดีที่จะตามมาคือการแข่งขันในธุรกิจก๊าซเพราะมีผู้ประกอบการที่นำเข้าหลายราย สามารถเลือกซื้อก๊าซจากผู้ที่นำเข้าได้ในราคาถูกก่อน ไม่จำเป็นต้องพึ่ง ปตท.เพียงรายเดียว

   ส่วนความคืบหน้าการแยกโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะธุรกิจท่อก๊าซจาก ปตท. ต้องรอนโยบายจากทาง กระทรวงพลังงาน เพื่อสั่งการและมอบอำนาจให้กับเรกูเลเตอร์กำกับดูแลต่อไป ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะต้องนำเสนอ กพช. พิจารณาก่อน

   มีรายงานจาก กกพ. แจ้งว่า ในปัจจุบันนี้มีเพียง ปตท. รายเดียวที่ขายก๊าซธรรมชาติ หากร่างระเบียบการแข่งขันฯ ฉบับนี้แล้วเสร็จ จะเกิดผู้ค้าก๊าซฯ รายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในประเทศไทย สามารถใช้ระบบ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อ และคลังก๊าซแอลเอ็นจี ได้เทียบเท่ากับ ปตท.และผู้ซื้อโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเลือกใช้ก๊าซฯ จากท่อของบริษัทใดๆ ก็ได้ที่มีราคาถูก และให้บริการดีที่สุด สุดท้ายประชาชนทั่วประเทศก็จะได้ประโยชน์ ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสม

     สำหรับ ร่างระเบียบฯ ดังกล่าวนั้น จะกำหนดกฎกติกาให้ทุกรายจ่ายค่าผ่านท่อ และค่าเช่าคลังก๊าซแอลเอ็นจีในราคาเดียวกัน และเปิดให้ทุกบริษัทเข้ามาใช้ท่อ และคลังฯ ได้อย่างเสรี โดยปราศจากการกีดกัน โดยปัจจุบัน แผนการสร้างคลังแอลเอ็นจีสามารถเก็บแอลเอ็นจีได้ถึง 10 ตัน สามารถรองรับโรงไฟฟ้าใหม่ได้ 10 โรง ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) ในเดือน ก.ค.2556

เรกูเลเตอร์ชง 5 เรื่องเสนอกพช. ปรับสูตร-เปิดทางใช้ท่อก๊าซปตท.

    ไทยโพสต์ : จามจุรีย์สแควร์ * เรกูเลเตอร์เตรียมชง 5 เรื่องเสนอที่ประชุม กพช.นัดแรกเร็วๆ นี้ ที่มีหัวหน้า คสช.เป็นประธาน ทั้งเรื่องกำหนดใข้พี เพดมิเตอร์ไฟฟ้า การเปิดโควตาโซลาร์รูฟท็อปประเภทบ้านเรือนเฟส 2 อีก 50 เมกะวัตต์ ปรับสูตรค่าผ่านท่อ พร้อมระบุวางกรอบเปิดทางให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้ท่อก๊าซได้เสรีคาดปี 2557

    นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประ ธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความ สงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประ ธาน ซึ่งจะจัดการประชุมในเร็วๆ นี้ ทางเรกูเลเตอร์ได้เตรียมเรื่องเสนอเข้าที่ประชุม 5 เรื่อง ได้ แก่ 1.เสนอให้พิจารณาระเบียบ ใหม่ของเรกูเลเตอร์ ที่จะกำหนดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้ท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ เพื่อลดปัญหาการผูกขาดท่อก๊าซของ ปตท. และให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจก๊าซได้มากขึ้นในอนาคต

   2.เสนอ กพช.ให้ปรับโครง สร้างราคาค่าบริการท่อก๊าซใหม่ เนื่องจากหลักเกณฑ์ค่าผ่านท่อที่ใช้อยู่ คือราคา 21.7665 บาทต่อล้านบีทียู ใช้ตามนานตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งปัจจุบัน ต้นทุนและการลงทุนท่อก๊าซต่างเกิดการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ สูตรการคำนวณเดิมยังส่งผลให้ราคาค่าผ่านท่อต้องปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3.ขอให้ คสช.พิจารณาขยายการขายไฟฟ้าเข้าระบบ (ซีโอดี) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าบน หลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เนื่อง จากโครงการโซลาร์รูฟท็อปกำหนดให้ผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในเดือน ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา แต่ติดปัญหาเรื่องข้อกฎ หมายใบประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ทำให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ทันช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น เบื้องต้นเรกูเลเตอร์ได้แก้ปัญหาด้วยการออกประกาศให้คงสิทธิ์ผู้ร่วมโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้ สามารถได้รับสิทธิ์ดังกล่าวไว้ก่อน

    "เพื่อให้การดำเนินโครง การเป็นไปอย่างถูกต้องจะต้องขออนุมัติจาก กพช.ขยายซีโอดีดังกล่าว พร้อมกันนี้จะหารือถึงโควตาโซลาร์รูฟท็อปประเภทบ้านเรือนที่เหลืออีกประมาณ 50 เมกะวัตต์ ว่าจะเปิดเฟส 2 ให้บ้านเรือนที่สนใจเข้าร่วมโครง การเพื่อผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลืออีก 50 เมกะวัตต์ ให้ครบตามเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์หรือไม่"นายดิเรกกล่าว

     4.การขออนุมัติกรอบการคิดค่าไฟฟ้าฐานของประเทศใหม่ ที่เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งการกำหนดใช้มิเตอร์ไฟฟ้าแบบเติมเงิน (พีเพดมิเตอร์) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับบัตรเติมเงินมือถือ คือเมื่อเติมเงินก่อนแล้วจะได้ ใช้ไฟฟ้าได้ตามจำนวนเงิน ซึ่งแนว ทางดังกล่าวเหมาะสำหรับบ้านเรือน งานก่อสร้าง หรือร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่ไม่มีมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนมากขึ้นและมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นด้วย แต่ค่าไฟฟ้าจากมีอัตราแพงกว่าไฟฟ้าบ้านเรือนทั่วไปนิดหน่อย

   และ 5.การขออนุมัติใช้ โครงการลดใช้ไฟฟ้าภาคสมัครใจแบบให้เงินชดเชย (ดีมานด์เรสปอนส์) ให้เป็นมาตรการถาวร กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินด้านไฟฟ้าขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ ทันที รวมทั้งช่วยลดความต้อง การใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ไฟฟ้าในช่วงวิกฤติไฟฟ้าประเทศได้ด้วย

    นายดิเรก กล่าวว่า เรกูเลเตอร์ได้จัดเตรียมทั้ง 5 เรื่องดังกล่าวเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ กพช.ในนัดแรกที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้ เพื่อให้โครงการต่างๆ เดินหน้าให้เร็วที่สุด และช่วยพัฒนาระบบไฟฟ้าและพลังงานของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!