- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 14 March 2016 23:58
- Hits: 3743
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 7-11 มี.ค. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 14-18 มี.ค. 59
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 3.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 35.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 3.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 5.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 4.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes Inc. รายงาน แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 มี.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 6 แท่น มาอยู่ที่ 386 แท่น ลดลงติดต่อกัน 12 สัปดาห์ แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่ ธ.ค. 52
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิต Shale oil ในสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 106,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 4.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 อนึ่งปริมาณการผลิต Shale oil จากแหล่ง Bakken ลดลงจากเดือนก่อน 30,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ แหล่ง Eagle Ford ลดลงจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· กรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเดือน ก.พ. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเพิ่มขึ้น จากปีก่อน 1.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 8.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยความต้องการน้ำมันดิบจากโรงกลั่นอิสระสูงขึ้นกอปรกับค่าตอบแทนการกลั่นแข็งแรง
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงาน สถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก และตลาด ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มี.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 35,651 สัญญา มาอยู่ที่ 137,983 สัญญา สูงสุดตั้งแต่ พ.ย. 58 เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว
· ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในการประชุมเมื่อวานนี้โดยปรับลดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลจากเดิม 0.05% เหลือ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และยังลดดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB จากเดิม -0.3% ลงมาอยู่ที่ -0.4% พร้อมเพิ่มเม็ดเงินกระตุ้นทางการเงินจาก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนเป็น 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 521.9 ล้านบาร์เรล
· Reuters รายงานท่อขนส่งน้ำมันดิบในบริเวณเขตปกครองพิเศษเคอร์ดิสถาน (ปริมาณการขนส่ง 600,000 บาร์เรลต่อวัน) อาจกลับมาดำเนินได้ภายในกลางเดือน มี.ค. 59 หลังกองทัพตุรกีสามารถขับไล่กลุ่มผู้ก่อการร้ายออกจากพื้นที่ได้สำเร็จ
· ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปีงบประมาณ 2559 จากการประเมินครั้งก่อนเดือน ม.ค.59 จากเติบโตปีละ 1.5% มาอยู่ที่ระดับ 1.3% เพราะอุปสงค์ในประเทศชะลอตัว ความผันผวนในตลาดเงิน และ GDP ของ Emerging Market ชะลอตัว อย่างไรก็ตามการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นติดลบในเดือน ม.ค. 59 เพิ่มปริมาณเงินสู่ระบบถึง 80 ล้านล้านเยน หรือ ประมาณ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent เพิ่มขึ้น 3 สัปดาห์ซ้อน และ NYMEX WTI เพิ่มขึ้น 4 สัปดาห์ซ้อน ICE Brent กำลังทดสอบแนวต้านสำคัญที่ 41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจากขึ้นไปทดสอบมาหลายครั้งตลอดสัปดาห์ก่อนแต่ยังไม่ผ่าน หากผ่านขึ้นไปได้ มีโอกาสทะยานขึ้นต่อเนื่อง ด้านปัจจัยพื้นฐาน IEA คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบได้ ‘ผ่านพ้นจุดต่ำสุด’ ไปแล้ว และต่อจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากประเทศนอกกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่อุปทานจากอิหร่าน ซึ่งทยอยกลับมาหลังชาติตะวันตกยุติการคว่ำบาตร มิได้เพิ่มขึ้นทวีคูณอย่างที่อิหร่านเคยตั้งเป้าไว้ ด้านอุปสงค์น้ำมันดิบยังคงที่ในระดับสูง ส่งผลให้คลังสำรองน้ำมันดิบของประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development-OECD ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว) ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่าปี
อย่างไรก็ตาม IEA ยังไม่สามารถระบุได้ว่าดุลยภาพระหว่างอุปสงค์ และอุปทานจะเกิดขึ้นในปี 2560 หรือไม่ ทั้งนี้ความร่วมมือของผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกทั้งในและนอก OPEC นั้น IEA มองว่าไม่น่าจะกระทบต่อผลผลิตน้ำมันดิบในครึ่งปีแรกของปีนัก นอกจากนี้ Goldman Sachs ยังออกมาตอกย้ำมุมมองเชิงลบต่อราคาน้ำมันดิบเช่นเดิม ชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาในช่วง 2 เดือนแรกของปีมา ‘เร็วเกินควร’ และจะกลับกลายเป็นกระตุ้นให้อุปทานน้ำมันดิบบางส่วนฟื้นคืนกลับสู่ตลาด ราคาน้ำมันจึงต้องลงต่ำกว่านี้ต่อเนื่องนานกว่านี้เพื่อให้อุปทานลดลงรุนแรงในระยะ 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวที่ระดับ 38-43 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ NYMEX WTI เคลื่อนไหวที่ระดับ 35-40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai เคลื่อนไหวที่ระดับ 33-38 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากข่าวบริษัท Dongming Petrochemical ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงกลั่น น้ำมันอิสระ (Independent Refineries) ของจีนยังไม่ส่งออกน้ำมันเบนซินในปีนี้แม้ว่าจะได้รับอนุมัติโควตาส่งออกน้ำมันเบนซินเมื่อปลายปี 2558 เนื่องจากราคาขายปลีกในจีนอยู่ในระดับสูงพอจะดึงดูดใจให้โรงกลั่นเน้นจำหน่ายน้ำมันในประเทศ ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 9 มี.ค. 59 ลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 14.6 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 มี.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.11 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 10.55 ล้านบาร์เรล ขณะที่ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มี.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 250.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ (Association of Automobile Manufacturers) ของจีน รายงานยอดขายรถยนต์ ในเดือน ก.พ. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 36.78% มาอยู่ที่ 1.58 ล้านคันต่อเดือน เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดตรุษจีน ขณะที่ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรป ที่ ARA สัปดาห์สิ้นสุด 10 มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.16 ล้านบาร์เรล หรือ 1.6 % อยู่ที่ 10.16 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซล 0.05 %S จากเวียดนามแข็งแกร่ง โดย Vietnam National Petroleum Import-Export Corp. (Petrolimex) ออกประมูลซื้อปริมาณรวม 530,000 บาร์เรล และ Saigon Petro ออกประมูลซื้อปริมาณรวม 270,000 บาร์เรล ส่งมอบในเดือน เม.ย. 59 และ นักวิเคราะห์ JBC Energy คาดการณ์อุปทาน Middle Distillates ในตลาดยุโรปอาจตึงตัวในเดือน เม.ย. 59 เนื่องจากโรงกลั่นมีแผนปิดซ่อมบำรุงเกือบ 900,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ ม.ค. 59 ขณะที่ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 มี.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.24 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 9.41 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มี.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 162.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากอินโดนีเซียใน OPEC นาย Widhyawan Prawiraatmadja ชี้ว่าอุปสงค์น้ำมันดีเซลในประเทศลดลงหลัง รัฐบาลมีนโยบายเลิกการอุดหนุน (Subsidy) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศเมื่อปีก่อน เป็นผลให้ประชาชนใช้ตามความจำเป็น และ IES รายงาน ปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์
สิ้นสุด 9 มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ ก่อน 0.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 13.0 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ PJK รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ในยุโรป ที่ ARA สัปดาห์สิ้นสุด 10 มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.29 ล้านบาร์เรล หรือ 5.1 % อยู่ที่ 26.5 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล