- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 07 March 2016 18:29
- Hits: 2337
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 29 ก.พ.- 4 มี.ค. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 7-11 มี.ค. 59
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (ICE Brent) เพิ่มขึ้น 2.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 31.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 34.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของตลาดน้ำมันสำเร็จรูปราคาเฉลี่ยน้ำมัน เบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ประธานาธิบดี Putin แถลงหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารบริษัทน้ำมันรัสเซียที่ตกลงว่าจะไม่เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในปีนี้ จากปริมาณการผลิตเดือน ม.ค. 59 ที่ 10.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้มาตรการคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ หรือ Freeze Output ของประเทศผู้ผลิตมีความคืบหน้า และคาดว่าจะประชุมช่วงกลางเดือน มี.ค. นี้
· Energy Information Administration หรือ EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ใน เดือน ธ.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 43,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงต่อเนื่อง 3 เดือนมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่าปี เนื่องจากการผลิต Shale Oil ลดลงรุนแรง
· Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มี.ค.59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น มาอยู่ที่ 392 แท่น ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 11 และแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 52
· SIA Energy บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานของจีนประเมินปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของจีนปี 2559 อยู่ที่ 7.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 860,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าการบริโภคน้ำมันปี 2559 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 11.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 410,000 บาร์เรลต่อวัน จากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น
· กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานตัวเลขประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4/2559 ทบทวนครั้งที่ 2 ขยายตัวจากปีก่อน 1.0% สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่รายงานครั้งแรก 0.7% เนื่องจากภาคธุรกิจลดการเก็บสินค้าคงคลัง และขาดดุลการค้าต่ำกว่าที่คาดไว้
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Bloomberg Intelligence รายงานคลังกักเก็บน้ำมันดิบในสหรัฐฯ หลายแห่งกำลังจะเต็ม ณ ปัจจุบันคลังที่ Cushing รัฐ Oklahoma มีน้ำมันดิบอยู่ ที่ 63.3 ล้านบาร์เรล ของกำลังการกักเก็บทั้งหมด 73 ล้านบาร์เรล (87% ของกำลังการกักเก็บ ) ในขณะที่คลังทางฝั่งตะวันออกของประเทศ (East Coast หรือ PADDI) มีน้ำมันดิบอยู่ 17.3 ล้านบาร์เรล หรือ 85% ของความจุทั้งหมดที่ 20.3 ล้านบาร์เรล
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 518 ล้านบาร์เรล
· Reuters รายงานอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบเดือน มี.ค. 59 ปริมาณ 1.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 15,000 บาร์เรลต่อวัน จากบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่านทำสัญญาขายน้ำมันดิบแบบเทอมกับบริษัท Total ของฝรั่งเศส และ Cepsa ของสเปนเริ่มตั้งแต่ 1 มี.ค. 59 โดยอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบสู่ยุโรปเดือน มี.ค.59 ปริมาณ 250,000-300,000 บาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นหลังมีแรงซื้อจากนักลงทุนด้วยความเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent (8:00 น. วันนี้) ทะยานขึ้นเหนือระดับ 39 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ม.ค. 59 และมีแนวโน้มขึ้นไปแตะระดับ 40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากราคายังได้แรงส่งจากข่าวการลดการลงทุนของบริษัทน้ำมันที่ออกมาเป็นระยะ ประกอบกับความเสี่ยงในการล้มละลายของบริษัทผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดลดลง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนชี้ว่าราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นรุนแรงกว่า 40 % ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนไม่น่าจะไปต่อได้แล้ว อาจเพิ่มขึ้นเพียง 2-3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปัจจุบัน และจะเคลื่อนไหวต่อไปในลักษณะ Sideway กล่าวคือแกว่งตัวขึ้นลงในกรอบแคบๆโดยไม่มีทิศทางที่แน่ชัด ด้านความเคลื่อนไหว Trade Flow ล่าสุด Reuters รายงาน ยุโรปนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบ Brent (ใช้เป็น Benchmark ในยุโรป) สูงกว่าราคาน้ำมันดิบ WTI (ใช้เป็น Benchmark ในสหรัฐฯ) มากขึ้น
ประกอบกับค่าขนส่งต่ำลง ในจังหวะที่อุปทานในยุโรปขาดหายไปบางส่วนจากการประกาศหยุดดำเนินการด้วยเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ของน้ำมันดิบ Forcados จากไนจีเรีย (150,000 -250,000 บาร์เรลต่อวัน) และ เหตุขัดข้องของท่อขนส่งน้ำมันดิบจากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน (ประมาณ 600,000 บาร์เรลต่อวัน) อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นน้ำมันส่วนใหญ่ในยุโรปไม่ได้ใช้น้ำมันดิบสหรัฐฯ เข้ากลั่นมานาน จึงต้องใช้เวลาทดลองระบบ ด้านความเคลื่อนไหวเชิงนโยบายมหภาค รัฐบาลจีนตั้งเพดานการใช้พลังงานในปี พ.ศ.2563 ไว้ที่ปริมาณ 4.8 พันล้านตันเทียบเท่าถ่านหิน และในปี 2573 ไว้ที่ปริมาณ 5.3 พันล้านตัน เทียบเท่าถ่านหิน
นับเป็นการตั้งเพดานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มุ่งเป้าลด Energy Intensity (อัตราส่วนการใช้พลังงานต่อขนาดเศรษฐกิจ) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมอกควันและปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานการใช้พลังงานในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.9 % ปริมาณ 4.3 พันล้านตันเทียบเท่าถ่านหิน ด้านความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.5-39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, WTI ที่ 33-36.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai ที่ 30.5-34 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจาก Reuters รายงาน Kuwait Petroleum Corp. ของคูเวต และ Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซินรวม 4 ล้านบาร์เรล ส่งมอบปลายเดือน มี.ค. 59 และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 27 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรล หรือ 4.2 % อยู่ที่ 10.6 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของญี่ปุ่น รายงานยอดขายน้ำมันเบนซิน เดือน ม.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 13% และลดลงจากปีก่อน 0.1% อีกทั้งรัฐมนตรีคลังอินเดียประกาศเก็บภาษี สำหรับการซื้อรถยนต์ขนาดใหญ่ 4 % เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 59 เพื่อต่อสู้ภาวะมลพิษทางอากาศและบรรเทาปัญหาการจราจร ในขณะที่อุปทานน้ำมันเบนซิน จากเอเชียเหนืออยู่ในระดับสูง ประกอบกับยุโรปส่งออกมายังเอเชียมาก นอกจากนั้น International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 410,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 15.54 ล้านบาร์เรล และ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์บริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.6 % มาอยู่ที่ 10.98 ล้านบาร์เรล ใกล้เคียงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 45.5-49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลจากภูมิภาคเอเชียเหนืออยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ประกอบกับโรงกลั่นในภูมิภาคโดยเฉพาะ ไต้หวัน เกาหลีใต้และจีน ทยอยเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง ทำให้อุปทาน Ultra-Light-Sulphur Diesel (ULSD) ในเอเชียตึงตัว และ PAJ รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 27 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล หรือ 10.2 % อยู่ที่ 9.6 ล้านบาร์เรล และ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์บริเวณ ARA ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.3 % มาอยู่ที่ 25.17 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม JX Nippon Oil & Energy บริษัทโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เผยแผนเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในเดือน มี.ค. 59 กว่า 3 เท่า มาอยู่ที่ 156,200 บาร์เรล โดยส่วนใหญ่เป็น Middle Distillates และมีกลุ่มลูกค้าหลักคือจีนและออสเตรเลีย
อีกทั้ง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 190,000 บาร์เรลมาอยู่ที่ 12.53 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 15 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 40.6-44 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล