- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 12 July 2014 21:50
- Hits: 2978
โครงการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าพลาดเป้า
แนวหน้า : นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงการดำเนินมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ในช่วงเหตุการณ์หยุดจ่ายก๊าซจากแหล่ง JDA-A18ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน 0 กรกฎาคม 2557 ว่า จากการรณรงค์ขอความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Period) ปรากฏว่ามีภาคอุตสาหกรรมแสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการ 430 ราย เสนอจะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ 247.07 เมกะวัตต์ โดยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 กกพ.ได้มีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าชดเชยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด ที่ติดตั้งมิเตอร์ระบบการอ่านหน่วยอัตโนมัติ (Automatic Meter Reading-AMR) ในอัตรา 4 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ จากการติดตามผลการลดใช้ไฟฟ้าตามมาตรการ Demand Response พบว่า สามารถลดได้สูงสุด 47.88 เมกะวัตต์ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 จากที่ได้ตั้งเป้าการลดใช้ไฟฟ้าไว้ที่ 247.07 เมกะวัตต์ สาเหตุที่ไม่สามารถลดไฟได้ตามเป้าที่วางไว้ เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจทำให้ยอดการผลิตของอุตสาหกรรมในภาคใต้เพิ่มขึ้น และสถานการณ์บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงการรับชมการถ่ายทอดสดในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำ
สำหรับ ประมาณการผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) นั้น ในการประมาณการค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2557 ได้รวมต้นทุนค่าเชื้อเพลิงดีเซลและน้ำมันเตา ที่ต้องใช้รองรับเหตุการณ์การหยุดจ่ายก๊าซจากแหล่ง JDA-A18 ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน-10 กรกฎาคม 2557 ไว้แล้วประมาณ 1,001.63 ล้านบาท โดยคิดเป็นส่วนหนึ่งในค่า Ft1.76 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ JDA-A18 หยุดจ่ายก๊าซจริงที่ผ่านมา เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในภาคใต้ ซึ่งอาจกระทบต่อความไม่มั่นคงของประเทศ ประกอบกับมาเลเซียมีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลือในช่วงเวลาดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงมีความจำเป็นต้องสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทุกโรงที่มีอยู่ในภาคใต้อย่างเต็มที่ และซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มเติม
ทั้งนี้ จากการติดตามการใช้ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการรณรงค์จากทุกภาคส่วนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยความร่วมมือของกองทัพภาคที่ 4 และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ทำให้การใช้ไฟฟ้าในภาคใต้มีปริมาณสูงกว่า 2,300 เมกะวัตต์ เพียง6วัน น้อยกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงกว่า 2,300 เมกะวัตต์ ถึง 24 วัน