- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 12 July 2014 21:49
- Hits: 3100
อ่วม!ค่าไฟฟ้าจ่อขยับขึ้น 6 บาท เสนอ4ข้อปรับโครงสร้างพลังงาน ถกกองทุนอนุรักษ์ฯดัน 2 โปรเจ็กต์
ไทยโพสต์ : ท่าพระจันทร์ * กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ชี้ภายใน 10 ปีค่าไฟฟ้าไทยปรับขึ้นเป็น 6 บาท เหตุไทยเปิดสัมปทานปิโตรเลียมไม่ได้กว่า 7 ปีแล้ว ทำให้ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีราคาแพงมาใช้แทน เตรียมเสนอ 4 ข้อปรับโครงสร้างพลังงาน ได้สั่งปรับแผนกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอนุมัติเดินหน้า 2 โครงการด้านวิจัยและพลังงานทดแทน
นายมนูญ ศิริวรรณ กรรม การกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน เปิดเผยในงานสัมมนา "ปฏิรูปพลังงาน : โอกาสและความท้าทายหลังรัฐประหาร" ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทยจะปรับขึ้นจาก 4 บาทต่อหน่วย เป็น 6 บาทต่อหน่วย หรือปรับเพิ่มขึ้นอีก 30% จากปัจจุบัน เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศกำลังจะหมดลงในอีก 7 ปีข้างหน้า เพราะปัจจุบันไทยไม่ได้เปิดสัมป ทานให้หาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ กว่า 7 ปีแล้ว ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งมีราคาแพงประมาณ 16-17 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ก๊าซจากอ่าวไทยอยู่เพียง 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และในอนาคตราคาแอลเอ็นจีมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 20 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ด้านพลัง งานของประเทศควรเน้นเรื่องการ สร้างประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพราะไทยเป็นประเทศนำเข้าพลัง งานเป็นหลัก ซึ่งหากละเลยด้านประสิทธิภาพพลังงาน ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดหมด นอกจากนี้ยังต้องมุ่งเรื่องการอนุรักษ์พลัง งาน ส่งเสริมพลังงานทดแทน พร้อมกันนี้ควรทำโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้เกิดการสร้างประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้จริง
ทั้งนี้ ทางกลุ่มมีข้อเสนอต่อการปรับโครงสร้างพลังงาน 4 ข้อ คือ 1.) ลดเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2.) ยกเลิกการคุมเพดานราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และทยอยเพิ่มการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซล 1-3 บาทต่อลิตร 3.) ขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนและขนส่งให้สะท้อนราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และ 4.) เรียกเก็บภาษีสำหรับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี)
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประ ธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ กล่าวว่า ผลจากการหยุดซ่อมแหล่งเจดีเอทั้งระบบ ประเมินในเบื้องต้นว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จะอยู่ที่ 2.02 สตางค์ต่อหน่วย คิดจากค่าใช้จ่ายรวม 1,153 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายมาจากเชื้อเพลิงดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า บวกกับการซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นจะมีการพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นอีกครั้งก่อนจะมีการประกาศใช้ในงวดถัดไป คือ ก.ย.-ธ.ค.2557
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประ ธานคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่กองทุนเพื่อการอนุรักษ์ฯ ได้ทบทวน 23 โครงการ ประจำปี 2556-2557 นั้น ที่ประชุมเห็นควรเสนอให้ทบทวน 2 โครงการที่มีประโยชน์และให้เดินหน้าต่อ คือ โครงการการส่งเสริมงานวิจัย และพัฒนาด้านโครงการอนุรักษ์พลังงาน และด้านโครงการพลังงานทดแทน วงเงินรวม 400 ล้านบาท ในขณะที่โครงการที่เหลือหากเห็นว่าจำเป็น มีประโยชน์ ก็จะนำเสนอในการจัดทำงบประ มาณปี 2558 ที่แต่ละปีจะใช้วงเงินอนุรักษ์ ราว 7,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า คณะอนุกรรมการฯ จะมีการพิจารณาการลงทุนเพื่อก่อสร้างพลังงานทดแทนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และอื่นๆ โดยให้ทางคณะทำงานไปดูรายละเอียด หากเร่งลงทุนก็จะช่วยด้านกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ ที่ในขณะนี้ควรจะต้องช่วยกันดูหลายภาคส่วนว่าจะร่วมแก้ปัญหาได้อย่างไร.