- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 12 July 2014 21:48
- Hits: 3196
กกพ.ดัน Demand Response ใช้ถาวร
บ้านเมือง : ศ.กิตติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงการดำเนินมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ในช่วงเหตุการณ์หยุดจ่ายก๊าซจากแหล่ง JDA-A18 ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน-10 กรกฎาคม 2557 ว่า จากการรณรงค์ขอความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Period) ตามมาตรการดังกล่าว ปรากฏว่ามีภาคอุตสาหกรรมแสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการจำนวน 430 ราย เสนอจะลดความต้องการได้ 247.07 เมกะวัตต์ โดยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 กกพ.ได้มีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าชดเชยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัดที่ติดตั้งมิเตอร์ระบบการอ่านหน่วยอัตโนมัติ ในอัตรา 4 บาทต่อหน่วย
จากการติดตามผลการลดใช้ไฟฟ้าตามมาตรการ Demand Response พบว่า สามารถลดได้สูงสุด จำนวน 47.88 เมกะวัตต์ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 จากที่ได้ตั้งเป้าการลดใช้ไฟฟ้าไว้ที่ 247.07 เมกะวัตต์ ซึ่งสาเหตุที่ไม่สามารถลดไฟได้ตามเป้าที่วางไว้ เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจที่ทำให้ยอดการผลิตของอุตสาหกรรมในภาคใต้เพิ่มสูงขึ้น และสถานการณ์บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงการรับชมการถ่ายทอดสดในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำ
ด้าน ดร.พัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวถึง การนำมาตรการ Demand Response มาใช้ในครั้งนี้ถือว่าเป็นระยะเริ่มต้น และปรากฏผลว่ามีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงจากวิกฤติพลังงานในครั้งนี้ได้ โดยหลังจากนี้ กกพ. จะเดินหน้าผลักดันให้มาตรการ Demand Response เป็นมาตรการที่ถาวร โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป เนื่องจากเหตุการณ์หยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี และมีแนวโน้มที่จะมีความถี่และรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี ตราบใดที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวคิดในการนำมาตรการ Demand Response มาใช้ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ กกพ.เห็นว่าจะมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และสามารถดำเนินการได้ทั้งในภาวะปกติและในเหตุการณ์การหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติได้ในอนาคต
กูรูแนะแนวทางปฏิรูปพลังงาน-ชู 4 ยุทธศาสตร์สอดรับความต้องการใช้ในอนาคต
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และกรรมการกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน กล่าวถึงข้อเสนอของกลุ่มฯในการปฏิรูปพลังงานคือ รัฐควรลดการเก็บเงินจากน้ำเบนซินและแก๊สโซฮอล์เข้ากองทุนน้ำมันฯ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมสูงสุด, ยกเลิกคุมเพดานราคาดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร และเพิ่มเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเป็น 1-3 บาทต่อลิตร, แอลพีจีภาคครัวเรือนและภาคขนส่งจะต้องสะท้อนต้นทุนหน้าโรงแยกก๊าซและเอ็นจีวีจะต้องสะท้อนต้นทุนจริง
นายมนูญ กล่าวว่า ในอีก 22 ปีข้างหน้า ไทยจะมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 80% ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มเป็น 100% มูลค่านำเข้าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท โดยอัตราการนำเข้าพลังงานทุกชนิดจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งก๊าซ น้ำมัน และไฟฟ้า ดังนั้นยุทธศาสตร์ด้านพลังงานจะต้องยึดหลัก 4 ประการ คือ 1.ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 2.การอนุรักษ์พลังงาน 3.นโยบายพลังงานจะต้องสะท้อนตันทุนที่แท้จริง และ 4.การบริหารจัดการด้านพลังงานจะต้องไม่ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์หลักด้านพลังงาน
ปัจจุบันประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูง แม้จะมีความสามารถผลิตพลังงานในประเทศได้ถึงวันละ 8.7 แสนบาร์เรล ขณะที่มีความต้องการใช้พลังงานรวมวันละ 2 ล้านบาร์เรล ดังนั้นจะต้องพึ่งพาการนำเข้าราววันละ 1.1 ล้านบาร์เรล
ขณะที่การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในไทยก็ลดลง หากไม่เปิดสัมปทานเพิ่มเติมก็ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่การนำเข้าก็มีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างกรณีพม่าที่กำลังจะเปิดประเทศทำให้มีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น ดังนั้นไทยจำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีจากแหล่งอื่นทำให้กระทบต่อค่าไฟเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น 30% ในอีก 10 ปีข้างหน้า
อินโฟเควสท์