- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 06 March 2016 19:31
- Hits: 5306
ก.พลังงาน คาดปี 60 รับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มเป็น 348 MW-ขยะอุตฯ 10 MW
นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ มีนโยบายส่งเสริมและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในกลุ่มขยะของเสียเพื่อผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของรัฐบาล โดยขณะนี้พบว่าการผลักดันโรงไฟฟ้าขยะได้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มีการใช้พลังงานจากขยะชุมชนที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date :COD) แล้วทั้งสิ้น 135.48 เมกะวัตต์
โดยคาดว่าในปี 2560 จะสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนได้เพิ่มเป็น 348 เมกะวัตต์ และสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 10 เมกะวัตต์ ซึ่งได้วางเป้าหมายในระยะยาวตามแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ที่จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้ได้ 500 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ เพื่อลดปัญหาการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะของเสียในประเทศในอนาคตต่อไป
กระทรวงฯ มีแนวทางการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff (FiT) สำหรับไฟฟ้าจากขยะ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้เห็นชอบเมื่อปลายปี 2557 และสำหรับขยะอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา อีกทั้งกระทรวงฯ ได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (2558-2562) ซึ่งได้ร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนได้ผลเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง และเกิดโครงการหรือแผนงานที่จะบริหารจัดการขยะที่สำคัญ ๆ เช่น โครงการนำร่องการจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจรแบบกระจายศูนย์ โครงการศึกษาออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนระดับจังหวัด เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาพลังงานจากขยะ เช่น ขอความร่วมมือในการแก้ไขผลักดันกฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ให้มีความรู้ที่ถูกต้องในการบริหารจัดการขยะ และโรงไฟฟ้าขยะ รวมถึงการประสานให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) สนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำโซนนิ่ง (Zoning) บริเวณพื้นที่ที่มีศักยภาพจากพลังงานทดแทน โดยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานจากขยะเป็นลำดับแรกอีกด้วย
อินโฟเควสท์