- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 03 March 2016 19:43
- Hits: 3103
รมว.พลังงาน ยันโซลาร์ราชการฯต้องทำตามเกณฑ์,บอร์ด PPP ปลดล็อกเอื้อเดินหน้า
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ยืนยันโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) จะต้องทำตามเกณฑ์ของการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยเฉพาะในส่วนของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) จึงจะสามารถเข้าร่วมจับสลากในโครงการดังกล่าวได้
ขณะที่ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ได้แก้ไขปัญหาและอุปสรรค โดยจะออกประกาศให้โครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5 พันล้านบาทเจ้าของโครงการจะต้องยื่นขออนุมัติจากคณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้
"เราได้หารือกับคลังเพื่อขอให้ตรวจสอบว่าโครงการอันไหนใช่ เข้าตามเกณฑ์ก็เดินหน้า อันไหนไม่ใช่ก็ต้องตกไป คนที่จะเข้าทำโครงการก็ต้องศึกษาเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่าสามารถทำได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของ PPP...ส่วน PPP จะมีการแก้ไขกฎเกณฑ์หรือไม่เป็นเรื่องของคณะกรรมการ"พลเอกอนันตพร กล่าว
พลเอกอนันตพร กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 11 มี.ค.นี้จะมีการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการหรือกิจการที่ได้รับยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ซึ่งคาดว่าจะทำให้การดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯมีความชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. จะมีการพิจารณาเรื่องการโครงการนำร่องการเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟ) จำนวน 100 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะเป็นลักษณะการทดลองใช้ระบบการซื้อขายไฟฟ้า โดยวิธีหักลบหน่วย (Net Metering) โดยไม่ได้มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งหากพบว่าโครงการมีความเป็นไปได้ ก็มีโอกาสที่จะให้โครงการดังกล่าวสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในอนาคต
อนึ่ง กกพ.ได้ออกออกประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ โดยการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวมีปริมาณรวมไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ แบ่งการรับซื้อเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.59 แต่ได้เลื่อนการประกาศคัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นและการจับสลากคัดเลือกผู้ดำเนินโครงการออกไปก่อน หลังจากที่ต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากที่ผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 385 รายได้มายื่นขอตรวจสอบข้อมูลถึงสาเหตุที่ไม่ผ่านการพิจารณา โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผังเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมถึงเจ้าของโครงการที่เป็นส่วนราชการหลายหน่วยงานติดขัดเรื่องพ.ร.บ.ร่วมทนฯ ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
ขณะที่ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ PPP วันนี้ได้แก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์ม และโรงงานขยะขนาดเล็ก ที่เกิดจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แล้ว โดยการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการของกิจการตามนโยบายรัฐบาลให้มีความกระชับและชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้โครงการตามนโยบายรัฐบาลได้รวามเร็วมากขึ้น ทั้งนี้สำหรับปัญหาและอุปสรรคในประเด็นอื่นๆให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะออกประกาศเพื่อให้โครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5 พันล้านบาท สามารถดำเนินโครงการโดยให้นำเสนอต่อคณะกรรมการ PPP และครม.พิจารณา เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้
"ที่ประชุม PPP เห็นชอบแก้ไขอุปสรรคโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าขยะซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมามักถูกมองว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯเป็นอุปสรรค ที่ประชุมจึงกำหนดหลักเกณฑ์ว่าโครงการหากไม่เกิน 5 พันล้านบาทก็ให้เจ้าของหน่วยงานเสนอขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการ PPP และเสนอ ต่อ ครม.เห็นชอบต่อไป ดังนั้น จากนี้ไปพ.ร.บ.ร่วมทุนฯไม่นับเป็นอุปสรรค แต่หากล่าช้าก็ขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"นายเอกนิติ กล่าว
อินโฟเควสท์