- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 08 May 2014 23:10
- Hits: 4685
จ๊าก!รัฐปรับขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้มครัวเรือน เริ่มรีดเลือดพ.ค.นี้
แนวหน้า : นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า เรกูเลเตอร์ได้พิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)ประจำงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2557 อีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีโดยรวมประจำงวด พ.ค.-ส.ค. 2557 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 69 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานอีก 3.27 บาทต่อหน่วย จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมของประชาชนอยู่ที่ 3.96 บาทต่อหน่วย
สำหรับ อัตราค่าเอฟทีดังกล่าวเป็นตัวเลขที่เรกูเลเตอร์พยายามปรับลดลงหลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พิจารณาขอขึ้นค่าเอฟทีจริงที่13.94 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าเอฟทีโดยรวมอยู่ที่ 72.94 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้น การพิจารณาให้ค่าเอฟทีปรับขึ้นเพียง 10 สตางค์ต่อหน่วย จึงเหลือค่าเอฟทีอีก 3.94 สตางค์ต่อหน่วยที่ต้องให้ กฟผ.เป็นผู้แบกรับภาระแทนประชาชน ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 2,247 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ให้ค่าเอฟทีงวดนี้ปรับขึ้น เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลง 0.12 บาทต่อดอลล่าร์ จาก 32.21 บาทต่อดอลล่าร์ เป็น 32.33 บาทต่อดอลล่าร์ รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 2,003 ล้านหน่วย จาก 38,652 ล้านหน่วย เป็น 40,656 ล้านหน่วย เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นประกอบกับราคาก๊าซฯเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9.11 บาทต่อล้านบีทียู จาก 316.88บาทต่อล้านบีทียู เป็น 325.99 บาทต่อล้านบีทียู
นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันเตา มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 246 ล้านบาท จาก 3,403 ล้านบาท เป็น 3,649 ล้านบาท รวมทั้งยังมีการเตรียมสำรองน้ำมันเตาและดีเซลรองรับการหยุดจ่ายก๊าซฯแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) ถึง 28 วัน ระหว่างวันที่ 13 มิ.ย.-10 ก.ค. 2557 จึงมีผลกระทบต่อค่าเอฟที 1.78 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากภาคอุตสาหกรรมร่วมลดใช้ไฟฟ้าได้ 250 เมกะวัตต์ในวันดังกล่าว จะเหลือผลกระทบจากค่าเอฟทีเพียง 1.3-1.4 สตางค์ต่อหน่วย
สำหรับแนวโน้มค่าเอฟทีงวดสิ้นเดือน(ก.ย.-ธ.ค.2557) ยังคงมีทิศทางปรับขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยและหากรัฐบาลยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าได้ ในอีก 10 ปีข้างหน้าค่าไฟฟ้าอาจจะสูงขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วยได้
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ภาคครัวเรือน ประจำเดือน พ.ค. 2557 อีก 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาแอลพีจีเป็น 22.63 บาทต่อกิโลกรัม หรือรวมปรับขึ้นแล้วทั้งสิ้น 4.50 บาทต่อกิโลกรัม นับตั้งแต่เดือนก.ย.2556 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามราคาแอลพีจีจะปรับขึ้นไปจนถึงราคา 24.82 บาทต่อกิโลกรัมตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่ผ่านมาต่อไป
บิ๊กกฟผ.เผยจำใจปรับค่าเอฟที ชี้แนวโน้มต้นทุนผลิตไฟยังพุ่งต่อเนื่อง
กกพ.หารือขึ้นค่า FT คาดเพิ่ม 8 สตางค์ ส่งผล พ.ค.-ส.ค. จ่อทะลุ 4 บ./หน่วย
กกพ. พิจารณาปรับค่าเอฟที วันนี้ คาดเพิ่มแบบขั้นบันได โดยช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. ปรับขึ้น 8 สตางค์ ส่งผลเรียกเก็บค่าไฟฟ้ารวมทะลุ 4 บาท/หน่วย
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ เอฟที งวดใหม่ พ.ค.-ส.ค. โดยต้นทุนล่าสุดขยับประมาณ 13.90 สตางค์/หน่วย แต่ กกพ. อาจจะใช้แนวทางปรับขึ้นแบบขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบประชาชนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว คาดอาจปรับขึ้นที่ 8 สตางค์/หน่วย
โดยหากมีมติปรับอัตราค่าเอฟที ที่ระดับ 8 สตางค์/หน่วย เมื่อคำนวณรวมกับอัตราค่าไฟฟ้าฐาน(บ้านเรือนทั่วไป) ที่เรียกเก็บอยู่ที่ 3.3770 บาท/หน่วย และค่าเอฟทีเดิมที่เรียกเก็บอยู่ 59 สตางค์/หน่วยแล้ว ค่าไฟฟ้ารวมทั้งหมดจะทะลุ 4 บาท/หน่วย
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การพิจารณาต้นทุนเบื้องต้นพบว่า แนวโน้มจะมีการปรับขึ้นจากหลายปัจจัยเช่น อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลง ปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ การที่ภาคเอกชนเสนอให้ตรึงค่าไฟฟ้านั้น คงเป็นไปได้ยากเพราะที่สุดแล้วก็จะต้องมีผู้รับภาระ ซึ่งตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่ขณะนี้ อนุกรรมการพิจารณาเอฟทีกำลังพิจารณา ซึ่งหากมีการปรับขึ้น ที่ประชุมคงพิจารณา 2 แนวทาง คือ ปรับขึ้นตามต้นทุนทั้งหมด หรือ ปรับขึ้นแบบขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบประชาชน โดยเป็นการทยอยขึ้น และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อาจจะต้องรับภาระไปก่อน แล้วประชาชนมาจ่ายคืนภายหลัง
อินโฟเควสท์