- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 27 February 2016 23:18
- Hits: 5710
กกพ.คาดจับสลากรับสิทธิขายไฟโซลาร์ฟาร์มราชการภายในมี.ค. กระทบ COD เลื่อนไปเป็นธ.ค. 59
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการ พลังงาน ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 มี.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการหรือกิจการที่ได้รับยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม และคาดว่าการจับสลากเพื่อคัด เลือกผู้ที่ได้รับสิทธิการขายไฟฟ้าตามโครงการผลิต ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะแรกนั้น จะเกิดขึ้นอย่างเร็วภายในเดือนมี.ค.นี้
ทั้งนี้ การจับสลากในโครงการดังกล่าวล่าช้าจากเดิมในเดือนธ.ค.58 นั้น อาจจะต้องขอหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาเลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ของ โครงการดังกล่าวออกไปเบื้องต้นเป็น ระยะเวลา 3 เดือน หรือในเดือนธ.ค.59 จากเดิมที่กำหนด COD ภายในก.ย.59
ขณะนี้ ยังไม่มีหน่วยงานราชการหรือสหกรณ์ภาคการเกษตรรายใด ยื่นขอถอนตัวจากโครงการดังกล่าว ขณะเดียวกันหากกพช.มีมติให้ข้อยกเว้นเรื่องกฎหมายผังเมืองมีผลบังคับย้อนหลัง อาจจะมีหน่วยงานที่ผ่านคุณสมบัติเพื่อคัดเลือกเข้าจับสลากเพิ่มเติมจากเดิมที่มีผู้ผ่านคุณสมบัติโครงการดังกล่าวทั้งสิ้น 219 ราย จำนวนรวม 1,028.67 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าผู้ที่จะได้รับสิทธิเข้ามาจับสลากดังกล่าวจะต้อง ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เงื่อนไขทั้ง ในส่วนของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนใน กิจการของรัฐ(พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) และการใช้พื้นที่ ราชพัสดุ ขณะที่เบื้องต้นรับทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาแนว ทางที่จะปลด ล็อกเรื่องต่างๆแล้ว แต่หากเป็นไปตามกฎหมายเดิมก็คาดว่าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ซึ่ง มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 5 เมกะวัตต์/โครงการนั้น มีมูลค่าไม่ถึง 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็น เรื่องที่ระดับรัฐมนตรีสามารถอนุญาตได้ แต่คาดว่าขั้นตอนการดำเนินงานคงมีความล่าช้า
นายวีระพล กล่าวอีกว่า วันนี้(23 ก.พ.59)เป็นวันแรกที่กกพ.เปิดให้ยื่นเสนอขอขายไฟฟ้าจากผู้ ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff (FiT) ด้วยวิธีการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา สำหรับเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพจำนวนไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอจนถึงวันที่ 29 ก.พ. และ จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนเม.ย. ซึ่งในช่วงที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เปิดรับตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าพบว่ามีผู้สนใจมาสอบถามมากถึง 23-24 ราย
ส่วนการเปิดให้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทชีวมวล จำนวนไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ สำหรับพื้นที่เดียวกันนี้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-21 มิ.ย.และจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก ภายในเดือนส.ค.นี้
สำหรับ ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบ Adder เดิม (โซลาร์ฟาร์มค้างท่อ) นั้นที่มีกำหนด COD ภายในสิ้นปี 58 นั้น ล่าสุดมีผู้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วกว่า 70 โครงการ รวมกว่า 400 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 171 ราย จำนวนรวม 984 เมกะวัตต์ ซึ่งที่เหลือ ที่ไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในกำหนดจะต้องถูกตัดสิทธิใบ อนุญาตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แต่ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้เป็นรายกรณี ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้ยื่นขออุทธรณ์มาจำนวนหนึ่งแล้ว
นายวีระพล กล่าวอีกว่า ทางกกพ.จะพยายามดูแล เพื่อรักษาระดับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) รอบใหม่สำหรับเดือนพ.ค.-ส.ค.59 ไม่ให้ปรับขึ้นจาก ปัจจุบันที่อยู่ระดับ -4.80 สตางค์/หน่วย แม้ว่าแนวโน้มค่าเอฟทีจะเพิ่มขึ้น 1-3 สตางค์/หน่วยก็ตาม ผลจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำที่มีต้นทุนต่ำสุดนั้นทำได้น้อยมากจากภาวะ ภัยแล้ง ทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงที่มี ราคาแพงกว่าในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงมากในปัจจุบัน ก็ยังไม่สะท้อนมาในราคาก๊าซ ธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า
ส่วนกรณีผู้ผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติได้แจ้งแผนดำเนินการซ่อมบำรุงแหล่ง ก๊าซธรรมชาติยาดานาในสหภาพเมียนมาร์ ได้เลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงเป็นวันที่ 25-28 ก.พ.59 จากเดิมวันที่ 20-23 ก.พ.59 นั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อค่าเอฟที เพราะยังคงเป็นช่วงวันหยุด เสาร์อาทิตย์ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ จากเดิมการหยุดซ่อม บำรุงแหล่งก๊าซฯในช่วงเวลาเดิมจะมีผลต่อค่าเอฟที -0.07 สตางค์/หน่วย ซึ่งผลจากค่าเอฟทีดัง กล่าวจะใช้คำนวณค่าเอฟทีที่จะเรียกเก็บในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.59 นี้ด้วย
ขณะเดียวกัน กกพ.ยังอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response:DR) จากภาคเอกชน เพื่อให้เป็นมาตรการถาวร โดยได้จ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็น ผู้ทำการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 59
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย