- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 24 February 2016 19:31
- Hits: 1878
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 15-19 ก.พ. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 22-26 ก.พ. 59
โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (ICE Brent) เพิ่มขึ้น 1.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 33.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 3.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 29.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 30.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของตลาดน้ำมันสำเร็จรูปราคาเฉลี่ยน้ำมัน เบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 4.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย กาตาร์และเวเนซุเอลา บรรลุข้อตกลงควบคุมปริมาณการผลิตโดยใช้มาตรการ Output Freeze หรือคงปริมาณการผลิตในปริมาณเท่ากับเดือน ม.ค. 59 (Freeze Production) โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ผลิตรายใหญ่รายอื่นต้องร่วมในมาตรการตรึงปริมาณการผลิต ถือเป็นข้อตกลงครั้งแรกในรอบ 15 ปี ระหว่าง OPEC กับ Non-OPEC ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิหร่าน นาย Bijan Namdar Zanganeh ไม่ร่วมประชุมแต่รับทราบข้อตกลงพร้อมชี้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC
· Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นจุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 26 แท่น (ลดลงจากปีก่อน 1,123 แท่น) มาอยู่ที่ 413 แท่น สู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค.2552
· Dakota's Department of Mineral Resources รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในรัฐ North Dakota ของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 30,000 บาร์เรลต่อวัน และ ต่ำกว่าปีก่อน 77,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
· Deloitte บริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นนำของสหรัฐฯ รายงานผลสำรวจฐานะการเงินของบริษัทผู้ผลิตและสำรวจน้ำมันทั่วโลก ที่เป็นบริษัทมหาชน 500 แห่งพบว่า บริษัทกว่า 175 แห่ง มีหนี้สินรวม 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ มีความเสี่ยงล้มละลายจากมูลค่าทรัพย์สินที่ลดลง รวมทั้งขีดความสามารถในการสร้างรายได้ลดลง
· สมาพันธ์ผู้ผลิตรถยนต์แห่งยุโรป (European Automobile Manufacturers' Association) หรือ ACEA รายงานยอดขายรถยนต์ในยุโรปเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ 1,093,565 คัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6.3% และ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.6%) ทั้งนี้สมาพันธ์ประเมินตลาดรถยนต์ยุโรปมีแนวโน้มเติบโต จากรายรับครัวเรือนและการจ้างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเทศทางตอนใต้ของยุโรป
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 504.11 ล้านบาร์เรล
· Reuters รายงานปริมาณสำรองน้ำมันในคลังเก็บน้ำมันดิบแถบคาริเบียนที่มีความจุ 115 ล้านบาร์เรล (ไม่รวมคลังในโรงกลั่นน้ำมัน) เพิ่มขึ้นจนเกือบเต็ม ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันในลาตินอเมริกาและแอฟริกาหลายรายต้องขายด้วยราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต
· Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของโลก (GDP) ปี 2559 เติบโตที่ 3% ต่อปี เท่ากับการขยายตัวในปี 2558 แต่อัตราการเติบโตลดลง 0.3% ต่อปี จากประมาณการณ์ครั้งก่อนในเดือน พ.ย. 58 อย่างไรก็ตาม OECD ประเมินเศรษฐกิจอินเดียปี 2559 จะเติบโตที่ 7.4% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์ครั้งก่อน 0.1% ต่อปี
· สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของญี่ปุ่น ในไตรมาสที่ 4/58 ลดลง 1.4% ต่อปี หดตัวมากกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่ประเมิน GDP ลดลง 1.2% ต่อปี เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการส่งออกตกต่ำ
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากข่าวผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 โดยจำนวนแท่นผลิตน้ำมันดิบที่ดำเนินการอยู่ปัจจุบัน 413 แท่น ลดลง 73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน บ่งชี้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันอย่างเข้มงวดซึ่ง Goldman Sachs ประเมินว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของของสหรัฐฯ ปี 2559 จะลดลง 445,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ก่อนหน้า ขณะที่ IEA คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตปี 2559 จะลดลง 600,000 บาร์เรลต่อวัน จากปี 2558 มาอยู่ที่ 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 2560 จะลดลงอีก 200,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อตกลงในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันที่มีซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียเป็นแกนนำยังอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปและแผนการปฎิบัติที่ชัดเจน โดยผู้แทนจากเวเนซูเอลาจะหารือกับตัวแทนของอิหร่าน
ขณะที่ บราซิล เม็กซิโก โอมาน จีน และนอร์เวย์ได้รับการทาบทามให้ร่วมในข้อตกลงด้วย ทั้งนี้ รัฐมนตรีพลังงานรัสเซียนาย Alexander Novak กำหนดว่าคณะผู้เจรจาจะสรุปรายละเอียดเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการ Freeze Production ในวันที่ 1 มี.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานซาอุดีอาระเบีย และอิรักส่งออกน้ำมันดิบป้อนตลาดอินเดียสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือน ม.ค. 59 โดยซาอุดีอาระเบียส่งออก 940,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28%) และอิรักส่งออก 930,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 52%) ทั้งนี้อินเดียลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากลาตินอเมริกา อนึ่งผู้ค้าน้ำมันหลายรายระบุว่าอุปทานน้ำมันส่วนเกินยังมีในตลาดสูงถึง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 32-37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, WTI ที่ 29.5-34.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai ที่ 29-34 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของอินเดียและอินโดนีเซียแข็งแกร่ง โดย Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดีย รายงานยอดขายน้ำมันเบนซิน ในเดือน ม.ค. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน 11.4% มาอยู่ที่ระดับ 1.82 ล้านตัน หรือ 15.47 ล้านบาร์เรล และ Pertamina ของอินโดนีเซีย ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON จำนวน 1-2 เที่ยวเรือต่อเดือน ปริมาณเที่ยวเรือละ 200,000 บาร์เรล ส่งมอบไตรมาสที่ 2/59 ประกอบกับ Sinopec มีแผนปิดดำเนินการโรงกลั่น Yanshan (กำลังการกลั่น 231,000 บาร์เรลต่อวัน) เพื่อซ่อมบำรุงเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 59
ด้านปริมาณสำรองในภูมิภาค Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.04 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.46 ล้านบาร์เรล และ PJK International B.V.รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรป ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุด 18 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5.2% อยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม International Enterprise Singapore (IES) ของสิงคโปร์ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ.59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 360,000 บาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 14.50 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินเคลื่อนไหวในกรอบ 42-46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจากข่าว บริษัท Ceypetco ของศรีลังกา ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05% ปริมาณ 120,000 บาร์เรล ส่งมอบ 30-31 มี.ค. 59 เพิ่มเติมจากการนำเข้าน้ำมันดีเซล 0.05% ปริมาณ 600,000 บาร์เรล ส่งมอบ 1 มี.ค. – 31 ต.ค. 59 โดยคาดว่าการประมูลซื้อดังกล่าว เนื่องจากความต้องการของโรงไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้ง PPAC รายงานปริมาณการใช้น้ำมันน้ำมันดีเซลของอินเดีย ในเดือน ม.ค. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน 8.0% มาอยู่ที่ระดับ 6.28 ล้านตัน หรือ 45.8 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ผู้ค้าคาดอุปทานน้ำมันดีเซล ในตลาดเอเชีย เดือน มี.ค. 59 อาจขาดแคลน เนื่องจากโรงกลั่นเริ่มปิดซ่อมบำรุงตามแผนอาทิ โรงกลั่น Formosa (กำลังการกลั่น 450,000 บาร์เรลต่อวัน) ในไต้หวันมีแผนปิดดำเนินการหน่วย CDU NO.1 และ RFCC No.2 เพื่อซ่อมบำรุงประจำปีในเดือน มี.ค. 59 เป็นระยะเวลา 45 วัน
ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.12 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.72 ล้านบาร์เรล และ PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในยุโรป ที่ ARA สัปดาห์สิ้นสุด 18 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.3% อยู่ที่ 25.5 ล้านบาร์เรลและ อย่างไรก็ตาม IES ของสิงคโปร์ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 12.08 ล้านบาร์เรล และ Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียยังถูกกดดันจากอุปทานจากตะวันออกกลางที่ยังไหลสู่เอเชียต่อเนื่อง เนื่องจากค่าเรือขนส่งลดลง สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลเคลื่อนไหวในกรอบ 38-42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล