WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIL34สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 8-12 ก.พ. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่  15-19 ก.พ. 59

โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)            

      สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปลดลงทุกชนิดโดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (ICE Brent) ลดลง 2.61  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่  31.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai)  ลดลง 3.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่  26.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) ปรับตัวลดลง 3.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่   28.15  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของตลาดน้ำมันสำเร็จรูปราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 5.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลง 1.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่  35.71  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

·       ธนาคารกลางจีนประกาศยอดทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศสิ้นสุดเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 3.23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนก่อน 99.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และอยู่ในระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 55 เนื่องจากเงินทุนไหลออกในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมามูลค่ารวม 4.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ทางการจีนต้องใช้เงินพยุงค่าเงินหยวน

·       Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันของประเทศกลุ่ม OECD เดือน ม.ค. 59 มีปริมาณสำรองน้ำมันที่ใช้บริโภคได้ (Stock Covered)  66.7 วัน สูงกว่าเดือนก่อน 2.2 วัน , สูงกว่าปีก่อน 8.1 วันและสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี 8.1 วัน                                                 

·       นาย Nabil Bouresli กรรมการอำนวยการสายงาน  International Marketing ของบริษัทน้ำมันแห่งชาติคูเวต (KPC) เปิดเผยแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบปริมาณ 150,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในไตรมาส 3/59 เพิ่มขึ้นจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ปัจจุบันที่ 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ KPC กำลังขยายฐานลูกค้ารายใหม่ในยุโรป

·       National Iranian Oil Company หรือ NIOC บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิหร่านประกาศรับชำระเงินค่าน้ำมันดิบไม่ว่าจะเป็นยอดคงค้าง หรือ คำสั่งซื้อใหม่ โดยคิดราคาเป็นสกุลยูโรจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างยูโรกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันส่งมอบ มาตรการข้างต้นจะช่วยให้อิหร่านมีเงินยูโรทำธุรกิจกับคู่ค้าในยุโรป

·       รายงานฉบับเดือน ก.พ. 59 ของ OPEC เผยในปี 2559 อุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดอยู่ประมาณ 720,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากรายงานฉบับก่อนหน้า 190,000 บาร์เลต่อวัน) โดยคาดว่าอุปทานจากซาอุดีอาระเบียและอิรักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะชดเชยการผลิตที่ลดลงของผู้ผลิต Non-OPEC

ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

·        รัฐบาลอินเดียคาดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2559 ซึ่งเริ่มต้นช่วง 1 เม.ย. 59-31 มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.4 % มาอยู่ที่ 7.6 %

·        Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานความต้องการใช้น้ำมันดิบของอินเดียในเดือน ม.ค. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.7% มาอยู่ที่ 15.71 ล้านตัน เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 เดือน

·       EIA ประเมิน ปริมาณการผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 59 จะลดลงจากเดือนก่อน 0.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 4.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นการลดลงต่อเนื่อง 8 เดือนจนต่ำกว่า 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นครั้งแรกในรอบ  ปีครึ่ง

·        EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 59 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 0.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 502 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.6 ล้านบาร์เรล

·       Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นจุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 28 แท่น มาอยู่ที่ 439 แท่น (ลดลงจากปีก่อน 1,056 แท่น) ระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2552

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ

     ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI เพิ่มขึ้นกว่า 10% หลังผู้ทรงอิทธิพลในวงการน้ำมันยังออกมาแสดงความเห็นถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันลดกำลังการผลิตระหว่าง OPEC และ Non-OPEC ล่าสุดสำนักข่าว Wall Street Journal ได้อ้างอิงคำพูดของ นาย Suhail bin Mohammed al-Mazrouei รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)  ว่า OPEC พร้อมร่วมมือกันลดกำลังการผลิต ซึ่ง UAE เป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรของซาอุดีอาระเบียในแผนกลยุทธ์แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบตกต่ำในปี 2557 รวมถึง นาย Emmanuel Ibe Kachiwku รัฐมนตรีน้ำมันของไนจีเรีย เผยว่ามีปรึกษาหารือในกลุ่ม OPEC ในการจัดประชุมพิเศษเพื่อสนับสนุนราคาน้ำมัน กระแสข่าวดังกล่าวก่อเกิดความผันผวนในตลาดน้ำมัน โดยเห็นได้จากการกลับเข้ามาของนักลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเพื่อทำกำไร และบริหารความเสี่ยง ประกอบกับดัชนีความผันผวน (Volatility) ในการซื้อขาย ประเมินโดย Reuters Eikon ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 51 ทางด้านปัจจัยพื้นฐานผู้ผลิตน้ำมันดิบบริเวณทะเลเหนือในสหราชอาณาจักรมีแผนขุดสำรวจแหล่งน้ำมันในปี 2559 เพียง 15 โครงการ ต่ำกว่าปีก่อน 5 โครงการ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 40 ปี เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับบริเวณอื่น ทำให้เสียเปรียบในสภาพแวดล้อมที่ราคาน้ำมันดิบตกต่ำ ทางด้านเทคนิคในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบอาจหมดแรงส่ง โดยราคา ICE Brent อาจกลับไปทดสอบระดับ 30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  อีกครั้ง ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent และ NYMEX WTI เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29.9 – 34.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และ 27.0 - 31.6 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  ตามลำดับ

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

          ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Bureau of Energy ของไต้หวันรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.0 % อยู่ที่ 34.7 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 255.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของอินโดนีเซียยังแข็งแกร่งโดยบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซีย นำเข้าน้ำมันเบนซิน ในเดือน ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.68 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 8.72 ล้านบาร์เรล โดยส่วนใหญ่นำเข้าน้ำมันเบนซินชนิด  88 RON เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.08 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 7.08 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินในหลายภูมิภาคลดลง อาทิ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ก.พ. 59 ลดลง 0.52 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.14 ล้านบาร์เรล และ  Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 6 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน  0.7 ล้านบาร์เรล หรือ 5.9 % อยู่ที่ 10.5 ล้านบาร์เรล และPJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรป ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุด 4 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน  0.2 ล้านบาร์เรล หรือ 1.6 % อยู่ที่ 9.9 ล้านบาร์เรล  ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันเบนซินอาจลงไปทดสอบแนวรับที่ 38.9 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และมีแนวต้านที่ระดับ  43.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

                                                                                                                                        

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

          Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียยังคงถูกกดดันจากปริมาณอุปทานล้นตลาด ประกอบกับการซื้อขายเบาบางช่วงเทศกาลตรุษจีน และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillate เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 161.0 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ไต้หวันและเกาหลีใต้ลดปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล โดย Bureau of Energy ของไต้หวันรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล ในปี 2558 ลดลงจากปีก่อน 8.3 % อยู่ที่ 67.7 ล้านบาร์เรล  ขณะที่ Hyundai Oilbank ของเกาหลีใต้มีแผนซ่อมบำรุงหน่วย Catalyst Cracking (กำลังการกลั่น 95,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Daesan (กำลังการกลั่น 390,000 บาร์เรลต่อวัน) ช่วงเดือน มี.ค. 59 เป็นเวลา 15 วัน คาดว่าปริมาณการส่งออก น้ำมันดีเซล จะลดลงประมาณ 1.3-1.4 ล้านบาร์เรล  ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.50 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.71 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.2 ล้านบาร์เรล  หรือ 1.6 % อยู่ที่ 10.8 ล้านบาร์เรล และ PJK รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ในยุโรป ที่ ARA สัปดาห์สิ้นสุด 4 ก.พ. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.1 ล้านบาร์เรล  หรือ 0.3 % อยู่ที่ 26.5  ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดีเซลอาจลงไปทดสอบแนวรับที่ 33.9 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล   และมีแนวต้านที่ระดับ 38.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!