- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 15 February 2016 22:44
- Hits: 1920
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 15-19 ก.พ 59 และสรุปสถานการณ์ฯ 8-12 ก.พ 59
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (15 - 19 ก.พ. 59)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ คาดว่า จะยังคงผันผวน หลังผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและรัสเซียยังไม่สามารถตกลงกันในอันที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบส่วนเกินลงได้ แม้ว่าจะมีข่าวจากผู้ผลิตของรัสเซียว่าทุกฝ่ายควรปรับลดกำลังการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากอิหร่านหลังจากที่ได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตร โดยในปัจจุบันอิหร่านมีการเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดเอเชียมากขึ้นและอยู่ระหว่างการเจรจากับโรงกลั่นในยุโรปเพื่อส่งออกน้ำมันดิบรวมกว่า 300,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนใกล้กับกำลังการผลิต ซึ่งสร้างความกังวลต่อผู้ผลิตว่าพื้นที่ในการจัดเก็บอาจจะไม่เพียงพอ หลังโรงกลั่นจะเริ่มเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงในเร็วนี้
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินจะยังคงไม่คลี่คลายภายในปีนี้ จากคาดการณ์ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ว่าจะมีปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวันไตรมาสแรก และกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาสสอง สาเหตุหลักจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกยังคงปริมาณการผลิตในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด นำโดยซาอุดิอาระเบีย อิรัก โดยจากข้อมูลล่าสุดในเดือน ม.ค. อิรักเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบไปสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.35 ล้านบาร์เรลต่อวันและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ประกอบกับอิหร่านเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบมากขึ้นไปยังตลาดเอเชียหลังจากได้รับการยกเลิกคว่ำบาตร โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาขายน้ำมันดิบรวมกว่า 300,000 บาร์เรลต่อวันกับโรงกลั่นในยุโรป สำหรับอุปสงค์น้ำมันในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า ในขณะที่อุปสงค์จะเติบโตเพียง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่ระดับ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน สาเหตุเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
จับตาการหารือระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและรัสเซียว่าจะได้ข้อสรุปในประเด็นปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบได้หรือไม่ โดยที่ผ่านมาการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเวเนซูเอลา กับรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย ยังคงไม่มีความคืบหน้าอย่างใด อย่างไรก็ตาม ล่าสุดอิหร่านได้ออกมาแสดงความพร้อมมากขึ้นที่จะเจรจากับซาอุดิอาระเบียในประเด็นดังกล่าว และ Rosneft ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายหนึ่งในรัสเซีย
ออกมากล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำมันดิบทุกรายควรปรับลดกำลังการผลิตลงวันละ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อลดอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดที่มีถึง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ทางรัสเซียก็ยังไม่ได้มีการพูดถึงว่าใครควรจะเป็นผู้ที่ปรับลดกำลังการผลิต ทำให้โอกาสในการปรับลดกำลังการผลิตยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 65 ล้านบาร์เรล ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 89 ของปริมาณถังน้ำมันทั้งหมด โดยประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลว่าพื้นที่ในการจัดเก็บน้ำมันดิบ ณ จุดส่งมอบอาจจะไม่เพียงพอ นอกจากนี้ โดยภาพรวมปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับที่สูงถึง 502.0 ล้านบาร์เรล แม้ว่าในสัปดาห์ล่าสุดจะปรับลดลง 0.8 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ออกมากล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างเปราะบางจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ตลาดการเงินที่ค่อนข้างผันผวน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ ทำให้ FED อาจจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ช้าลงจากเดิม ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่ที่คาดว่า FED จะยังคงไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเร็วนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนที่อยู่อาศัยที่กำลังก่อสร้าง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีนและสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 – 12 ก.พ. 59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 29.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 0.70 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 33.36 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 25 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาด เนื่องจากการหารือกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบยังไม่คืบหน้า ประกอบกับความกังวลหลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว อย่างไรก็ดี ตลาดได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ ส่งผลให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันเพิ่มมากขึ้น