- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 14 February 2016 16:10
- Hits: 2100
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ยืนยันเงินอยู่ครบ โปร่งใส ตรวจสอบได้
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีกลุ่มบุคคลไปยื่นหนังสือตรวจสอบความโปร่งใสของการทำงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้กับนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 นั้น โดยขอชี้แจงตามประเด็นดังต่อไปนี้
1. จากข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบเงินกองทุนฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าหายไปนั้น ทางสนพ. ยืนยันตัวเลขเงินกองทุนฯ อยู่ครบ และไม่มีการตกแต่งตัวเลขในบัญชีและสถานะทางการเงินแต่อย่างใด โดยกองทุนฯ ได้ฝากเงินกับธนาคารไว้ 2 ที่ คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานขาว มีจำนวนเงิน 35,413.36 ล้านบาท และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขากิ่งเพชร มีจำนวนเงิน 73.58 ล้านบาท รวมจากทั้ง 2 ธนาคาร เป็นมูลค่า 35,486.94 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558)
2.จากข้อมูลเรื่องตัวเลขแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ ในเว็บไซต์www.enconfund.go.th ที่มีข้อมูลบางส่วนคลาดเคลื่อนนั้น ขอแจ้งว่าข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกิดจากระบบที่อยู่ในระหว่างการปรับปรุง
“อย่างไรก็ตาม สนพ. ใคร่ขอบคุณที่ได้ช่วยตรวจสอบ ติดตาม และให้คำแนะนำการทำงานให้กับกองทุนฯ ซึ่ง สนพ. ยินดีรับมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น” ดร.ทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม
สรรพากร คาดอีก 1 เดือนจะมี SME ยื่นใช้ระบบบัญชีเดียวทะลุ 3 แสนราย - เตรียมเสนอต่ออายุภาษีท่องเที่ยวอีก 2 ปี เข้าครม.เร็วๆนี้
อธิบดีกรมสรรพากร เผยมี SME ยื่นใช้ระบบบัญชีเดียวแล้ว 1 แสนราย คาดอีก 1 เดือนจะทะลุ 3 แสนราย ยันไม่เอาผิดย้อนหลัง SME ที่บัญชีปี 56-57 ไม่สมบูรณ์ แต่ย้ำของปี 58 ต้องปรับปรุงให้ชัดเจน ก่อนหมดเขตยื่น พ.ค.นี้ รับนโยบายนี้รัฐฯจะสูญรายได้ปี 59-60 ถึง 2 หมื่นลบ. แย้มเตรียมเสนอต่ออายุแผนลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวออกไปอีก 2 ปี คาดเข้าครม.เร็วๆนี้ เผยมีผู้ยื่นภาษีปี 58 ผ่านระบบออนไลน์ 84% คืนภาษีเงินได้แล้ว 2.5 พันลบ.
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายการประชุมหารือ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สภาวิชาชีพบัญชี กรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถึงความร่วมมือกับมาตรการบัญชีชุดเดียวและการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเอสเอ็มอีว่า หลังจากที่กรมสรรพากรได้ออกพระราชกำหนดและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 ซึ่งเกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจสอบทางภาษีสำหรับรายการที่เกิดขึ้นเมื่อก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 เมื่อกิจการจดแจ้งการรับสิทธิดังกล่าวต่อสรรพากร และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ
สำหรับ หนึ่งในเงื่อนไข คือ กิจการต้องจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ หรือ เรียกว่า บัญชีเดียว ตั้งแต่รอบบัญชีที่เริ่มในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นหลังวันออกประกาศ มีเอสเอ็มอีขอยื่นบัญชีเดียวแล้ว 100,000 รายและคาดว่าหลังจากนี้อีก 1 เดือนจะมีเอสเอ็มอีจดแจ้งไม่ต่ำกว่า 300,000 ราย จากทั้งหมด 4.1 แสนราย
ทั้งนี้ จากการสนับสนุนการส่งเสริการทำบัญชีเดียว ตามนโยบายของภาครัฐที่ให้ยกเว้นการเสียภาษีในปีแรก และในปีต่อไปให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 10% นั้น จะส่งผลให้กรมฯสูญการจัดเก็บรายได้ในปี 2559-2560 รวม 20,000 ล้านบาท สำหรับเอสเอ็มอีทั้งหมด 4.1 แสนรายนั้น ประกอบด้วย เอสเอ็มอีรายเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท รวม 81% หรือคิดเป็น 3.6 แสนราย และมีเอสเอ็มอีที่มีรายได้ 30-500 ล้านบาทรวม 17%
นายประสงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ตนได้เสนอกระทรวงการคลังในการเสนอต่อมาตรการภาษีด้านการท่องเที่ยวออกไปอีก 2 ปี โดยคาดว่าจะเสนอเข้าครม.ในเร็วๆนี้ ส่วนการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาในปี 58 นั้น มีผู้อยู่ในระบบภาษีรวม 1.7ล้านราย มีผู้ยื่นผ่านระบบออนไลน์แล้ว 84% และกรมฯมีการคืนภาษีเงินได้แล้ว 2,500 ล้านบาท
นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาณจน์ ผู้อำนวยกรสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากร กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงาน พบว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการ ผู้สอบบัญชี และผู้รับทำบัญชีมีข้อกังวลที่สำคัญ คือ การปรับปรุงงบนั้นผู้ประกอบการ ผู้รับและผู้สอบบัญชีจะมีความผิดย้อนหลังหรือไม่ โดยหลังการประชุมที่ประชุมมีมติ การปรับปรุงงบของผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลให้ทำการปรับปรุงบัญชีในปี 58 โดยในทางบัญชี ถือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดทางบัญชี โดยอนุญาตให้ปรับปรุงย้อนหลังได้ โดยไม่ต้องให้ผู้ประกอบการ ผู้สอบหรือผู้รับทำงบบัญชีไม่ต้องส่งงบในปี 58 แต่ให้ทำการปรับปรุงย้อนหลังในปี 58 ให้มีความสมบูรณ์และถูกต้องและให้สอดคล้องกับมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 8 ของสภาวิชาชีพบัญชี
“ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะเข้าสู่มาตรฐานบัญชีเดียวนั้น ให้แก้ไขข้อผิดพลาดโดยใช้วิธีการปรับปรุงย้อนหลังในรอบระยะเวลาบัญชีปี 58 เพื่อให้รอบปี 59 เริ่มต้นอย่างถูกต้อง สำหรับกรณีข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในปี 56-57 ไม่ต้องยื่นงบการเงินใหม่ โดยการปรับปรุงงบนั้นจะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อนหมดเขตยื่นงบในเดือนพ.ค.นี้”นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
ส่วนข้อกังวลอีกข้อ คือ ผู้ประกอบการ ผู้สอบและผู้รับทำบัญชีกังวลว่า เมื่อปรับปรุงงบปี 58 เรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนของงบที่อาจไม่สมบูรณ์นั้นของปีงบ 56 และ 57 หรืออดีต ทำให้ผู้สอบมีความผิดหรือไม่ ที่ประชุมมีมติว่า ผู้สอบหรือผู้รับทำบัญชี หากดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามข้อเท็จจริงจะไม่มีความผิดพลาดในอดีต โดยจะต้องทำการสอบและทำการปรับปรุงบัญชีงบในปี 58 ให้ถูกต้อง ซึ่งจะไม่มีการเอาผิดในอดีตที่ผ่านมาด้วย
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมีมติว่า ผู้ประกอบการหากมีการยื่นงบปรับปรุงปี 58 เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการจะไม่มีความผิดหากงบในอดีตก่อนปี 58 ไม่สมบูรณ์ โดยกรมพัฒนาธุรกจการค้า จะไปสนับสนุนและช่วยเหลือและไม่ลงโทษใดใด แต่จะใช้การช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการปรับปรุงงบให้ถูกต้องในปี 58 ทำให้ผู้ประกอบกรคลายความกังวลได้
“สภาวิชาชีพชี้แจงว่า เนื่องจากเป็นการออกงบปี 58 แต่มีความผิดหรือบัญชีไม่สมบูรณ์ในปี 56 และ 57 ให้ผู้สอบทำการปรับปรุงงบปี 58 ให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ โดยสามารถออกงบอย่างไม่มีเงื่อนไขได้ โดยทั้งหมดการปรับปรุงให้ระบุที่หมายเหตุ โดยอ้างอิงจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ หากการปรับปรุงมีสาระสำคัญ ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้สอบบัญชี ผู้รับทำบัญชีคลายความกังวลได้ทั้งหมด ”นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย