- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 11 February 2016 23:04
- Hits: 3901
กกพ.-ธพ. ร่วม MOU กำหนดแนวทางกำกับดูแลกิจการขนส่งก๊าซฯทางท่อเพื่อลดความซ้ำซ้อน
พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ในฐานะประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ร่วมกับ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล ยาวมากกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยมีโครงการขนส่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ 2 โครงการที่เพิ่งจะดำเนินการขนส่ง ได้แก่ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาตินครสวรรค์ และยังมีโครงการขนส่งก๊าซธรรมชาตินครราชสีมา ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณไม่เกินเดือนตุลาคม 2559
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้อีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 จากระยองไปยังไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้ และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากสถานีควบคุมความดันก๊าซฯ ราชบุรี–วังน้อย ที่ 9 ไปยังจังหวัดราชบุรี
“ความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กกพ. และ ธพ. ในวันนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง ในการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ อันจะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวในการประกอบกิจการ ลดความซ้ำซ้อนในขั้นตอนการดำเนินงาน รวมทั้งผู้ประกอบการสามารถกำหนดระยะเวลาในการดำเนินโครงการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานในเรื่องอื่นๆ ต่อไป"รมว.พลังงาน กล่าว
ด้านนายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกกพ. กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จะมีการกำหนดขอบเขตของการกำกับดูแลของทั้งสองหน่วยงาน รวมทั้งขั้นตอนการออกใบอนุญาตกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าการประกอบกิจการพลังงานและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกกพ. จะมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย การประกอบกำหนดเขตสำรวจ การประกาศกำหนดเขตระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ การกำหนดเงินค่าทดแทน การวางระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ การจัดเครื่องหมายแสดงระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าบริการและมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ
โดยเนื้อหาสาระของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานไว้อย่างชัดเจน และได้กำหนดให้มีการสนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองดูแล การเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างสองหน่วยงาน รวมถึงการดำเนินการร่วมกันของสองหน่วยงานในการกำกับดูแลกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ เพื่อเป็นการลดการทับซ้อนกันของการพิจารณาอนุญาต รวมไปถึงลดขั้นตอนที่เกินจำเป็น อันจะทำให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนการปฏิบัติงาน และช่วยร่นระยะเวลาดำเนินการ สำหรับทั้งหน่วยงานอนุญาตและผู้ประกอบกิจการให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งภายในปี 59 นี้ จะการมีประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดเครื่องหมายในเขตระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติและเขตระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ เพื่อใช้ปฏิบัติร่วมกันต่อไป
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ มีหน่วยงานกำกับดูแลร่วมกันสองหน่วยงาน คือ กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงาน กกพ. โดยธพ. มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัย (safety) ของระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง และ กกพ. มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความมั่นคง (security) และความเป็นธรรมในการประกอบกิจการ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน
เนื่องจากขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการของทั้งสองหน่วยงานยังมีความคาบเกี่ยวกัน ทั้งสองหน่วยงาน จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนการอนุญาตและการกำกับดูแลในภาพรวม จึงได้ร่วมกันแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานในการกำกับดูแลการประกอบกิจการที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติทางท่อ โดยมีอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานเป็นประธานคณะทำงานขึ้น โดยให้คณะทำงานจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานในการกำกับดูแลการประกอบกิจการ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และมีความชัดเจนในขั้นตอนการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงาน และให้การปฏิบัติงานเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจรัฐ พร้อมทั้งลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกินความจำเป็น
การกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อร่วมกันระหว่างกรมธุรกิจพลังงานและสำนักงาน กกพ. จะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ รวมถึงเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินธุรกิจขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อของผู้ประกอบกิจการยิ่งขึ้น
อินโฟเควสท์