WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIL38สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 1-5 ก.พ. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 8-12 ก.พ. 59

โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
      สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (ICE Brent) เพิ่มขึ้น 1.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 34.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 29.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) ปรับตัวลดลง 0.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 31.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของตลาดน้ำมันสำเร็จรูปราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่

ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ธนาคารกลางของญี่ปุ่นกระตุ้นเศรษฐกิจโดยประกาศใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3 ขั้นตามปริมาณเงินฝากได้แก่ 0.1%, 0% และ -0.1%
· ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ยังคงวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ 3.75 แสนล้านปอนด์
· รัฐบาลจีนให้โควตาโรงกลั่นเอกชน (Independent Refineries) นำเข้าน้ำมันดิบในปี 2559 ปริมาณ 1.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่า 50 % จากปี 2558 ทำให้ปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบรวมของจีนในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18% อยู่ที่ 7.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Baker Hughes Inc.รายงานผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 59 ลง 31 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 467 แท่น ทั้งนี้จำนวนแท่นผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 และจำนวนแท่นผลิตที่ดำเนินการอยู่ลดลงต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2553
· บริษัท National Oilwell Varco (NOV) บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์แท่นขุดเจาะปิโตรเลียมและออกแบบระบบหุ่นยนต์ปฏิบัติการในแหล่ง ทั้งในและนอกชายฝั่ง รายงานยอดสั่งซื้ออุปกรณ์ทุน (Capital Equipment) ในไตรมาสที่ 4/58 ลดลงจากปีก่อน 52% มาอยู่ที่ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทางบริษัทคาดว่ากิจกรรมการขุดเจาะ (Drilling) และการแตกชั้นหิน (Fracking) ของ Shale Oil จะชะลอลงต่อเนื่องในปี 2559 นี้

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 502.7 ล้านบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2
· รัฐบาลจีนประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Industrial-Purchasing Manufacturing Index หรือ PMI) ในเดือน ม.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 0.3 จุด มาอยู่ที่ 49.4 จุด ทั้งนี้ค่า PMI ต่ำกว่า 50 จุดต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 6 บ่งชี้ภาคการผลิตถดถอย ขณะที่ PMI ภาคบริการของจีนในเดือนเดียวกันลดลงจากเดือนก่อน 0.9 จุด อยู่ที่ 53.5 จุด ส่งสัญญาณภาคบริการยังขยายตัวแต่ในอัตราช้าลง ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจของจีน
· Institute for Supply Management (ISM) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Service Purchasing Managers’ Index – PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 2.3 จุด มาอยู่ที่ 53.5 จุด ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 57
· กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานยอดผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 59 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังสิ้นสุดสหภาพโซเวียต อยู่ที่ 10.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวัน

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
     ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันล้นตลาด โดย Wood Mackenzie รายงานอุปทานน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงเกินความต้องการของตลาดประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการปิดแหล่งผลิตถาวรมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า อนึ่งผลการศึกษาระบุว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ยังดำเนินการอยู่ปริมาณประมาณ 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 3.5% ของกำลังการผลิตทั้งโลก มีรายรับต่ำกว่าค่าใช้จ่ายดำเนินการ (Cash Negative) อาทิ Oil Sands ในแคนาดาปริมาณ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน Heavy Oil Sands ในเวเนซุเอลา ปริมาณ 230,000 บาร์เรลต่อวัน และแหล่งในทะเลเหนือ ปริมาณ 220,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นต้น การผลิตน้ำมันดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้อุปทานน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงสะท้อนให้เห็นจากปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 502.7 ล้านบาร์เรล กอปรกับน้ำมันดิบจากอิหร่านเข้าสู่ตลาดมากขึ้น หลังการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร โดยได้รับความสนใจจากโรงกลั่นในในยุโรป อาทิ Total , ENI , Saras อย่างไรก็ตามให้จับตารัฐบาลจีน โดย นาย หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ย้ำจะเร่งรัดเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยลดทอนอำนาจฝ่ายบริหาร เพื่อกระจายอำนาจรวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบยกระดับคุณภาพการบริการให้ทันสมัยและจะนำไปสู่การเปิดเสรี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจีนเห็นว่าเศรษฐกิจจีนจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางจีนเน้นการกำกับดูแลสภาพคล่องให้เหมาะสมทันการณ์ และสอดคล้องกับปริมาณเงินและสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจ ด้านความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 31-36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, WTI ที่ 30-35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai ที่ 28-33 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
      สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Platts รายงานโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชียปรับอัตราการกลั่นสูงขึ้นในช่วงนี้ เพราะผลตอบแทนการกลั่นของน้ำมันเบนซินดี ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินในตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.9 ล้านบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 254.4 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 30 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่11.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 3 ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 14.7 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบปี อย่างไรก็ตาม Platts รายงานบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียมีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซิน ชนิด 88 RON ปริมาณ 7 ล้านบาร์เรล และน้ำมันเบนซิน ชนิด 92 RON ปริมาณ 0.5 - 0.6 ล้านบาร์เรล สำหรับส่งมอบเดือน ก.พ. 59 สูงกว่าปริมาณเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้าประมาณ 1-2 ล้านบาร์เรล และบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Petrolimex ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON และ 95 RON ปริมาณ 85,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
      สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจากการซื้อขายในตลาดจรที่สิงคโปร์คึกคัก โดยในช่วง 1-4 ก.พ. 59 มีปริมาณการซื้อขายเกือบ 3 ล้านบาร์เรล ประกอบกับแรงซื้อจาก Petroleum Importation Coordinator (PIC) ของแทนซาเนีย ปริมาณ 1.2 ล้านบาร์เรล และ Saigon Petro ของเวียดนามออกประมูลซื้อ Gasoil 0.05 %S จำนวน 2 เที่ยวเรือๆ ละ 70,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ม.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 159.7 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล สัปดาห์สิ้นสุด 30 ม.ค. 59 ลดลง 0.8 ล้านบาร์เรล หรือ 7.0 % อยู่ที่ 11.0 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานโรงกลั่นของบริษัทจีน 3 รายได้แก่ Sinopec, PetroChina, และ CNOOC มีแผนส่งออกน้ำมันดีเซลปริมาณรวม 5.3-7.5 ล้านบาร์เรลต่อเดือน ในไตรมาส 1/59 ส่วน IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ และ สัปดาห์สิ้นสุด 3 ก.พ. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35-40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!