- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 08 February 2016 16:14
- Hits: 1353
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนในการหารือกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ท่ามกลางความผันผวนของตลาด จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันดิบล้นตลาดที่ยังไม่คลี่คลาย ประกอบกับความไม่แน่นอนในการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันเพื่อปรับลดกำลังการผลิตและพยุงราคาน้ำมันดิบให้ฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำ
- Wood Mackenzie เผยว่าผู้ผลิตน้ำมันดิบนอกกลุ่มโอเปก เช่น สหรัฐฯ และแคนาดายังคงเดินหน้าผลิตน้ำมันดิบที่ปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะประสบกับภาวะขาดทุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง โดยคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำในขณะนี้มีเพียงแค่ราว 100,000 บาร์เรลต่อวันหรือเพียง 0.1% จากกำลังการผลิตทั่วโลกประมาณ 96.1 ล้านบาร์เรลเท่านั้น ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบอีกราว 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือประมาณ 3.5% ของอุปทานน้ำมันดิบโลกยังคงถูกผลิตออกสู่ตลาดโลกในราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุน (Cash negative) ทั้งนี้ เนื่องจากกลับมาเริ่มดำเนินการผลิตใหม่หลังจากหยุดผลิตไปชั่วคราวจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตนั้นสูงกว่า ประกอบกับผู้ผลิตยังมีความหวังว่าราคาน้ำมันดิบจะฟื้นตัวในระยะข้างหน้า
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นกดดันราคาน้ำมันดิบ โดยค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับเพิ่มขึ้น 151,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. จากระดับ 262,000 ตำแหน่งในเดือน ธ.ค. ในขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 4.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน เม.ย 51 น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 5.0%
+/- นาย อูโลจิโอ เดล ปิโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของเวนเนซูเอลาได้ออกเดินทางพบปะและเจรจากับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นได้แก่ รัสเซีย อิหร่าน โอมาน และกาตาร์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมไปถึงผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียในวันอาทิตย์ (7 ก.พ.) พร้อมเรียกร้องให้ผู้ผลิตรายอื่นสนับสนุนการจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือกันในการพยุงราคาน้ำมันดิบ โดยก่อนหน้านี้ ในวันพุธ (3 ก.พ.) ที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่นของอิหร่านได้เปิดเผยคำสัมภาษณ์ของ เดล ปิโน ที่อ้างว่าผู้ผลิตในกลุ่มโอเปก ได้แก่ อิหร่าน อิรัก รวมถึงผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกได้แก่ รัสเซียและโอมานสนับสนุนให้มีการจัดประชุมฉุกเฉินดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกล่าวประกาศอย่างเป็นทางการจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกว่าสนับสนุนให้มีการจัดประชุมหารือฉุกเฉิน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปริมาณการส่งออกจากสหรัฐฯ ที่เข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น รวมไปถึงปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องกว่า 13 สัปดาห์ติดต่อกัน จนแตะระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 254.4 ล้านบาร์เรล (วันที่ 29 ม.ค. 59)
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดน้ำมันดีเซลยังคงเผชิญกับภาวะอุปทานล้นตลาด สะท้อนได้จากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลจากประเทศอินเดีย จีน และญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปีนี้
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 28-35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 30-37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการหารือกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบหรือไม่
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังจากอิหร่านได้รับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติมหาอำนาจ โดยล่าสุดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะอยู่ที่ 1.44 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2558 กว่า 20%
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดรายงานโดย EIA เปิดเผยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ (สิ้นสุด ณ วันที่ 29 ม.ค. 59) ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 7.8 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 502.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์