- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 05 February 2016 00:02
- Hits: 2729
ปตท. แจงแผนซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ประจำปี เพิ่มศักยภาพ เสริมความมั่นคง
นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ผู้ผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติมีแผนซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อคงประสิทธิภาพในการจ่ายก๊าซฯ นั้น ในปี 2559 จะมีการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ที่สำคัญ 4 แห่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
• แหล่งก๊าซฯ ยาดานา ระยะเวลาการซ่อมบำรุงจำนวน 4 วัน ระหว่างวันที่ 20-23 กุมภาพันธ์ ศกนี้ เป็นการเชื่อมต่อหลุมก๊าซฯ ใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและรักษาความสามารถในการจ่ายก๊าซฯ ให้เป็นไปตามสัญญา ส่งผลให้ปริมาณก๊าซฯ ขาดหายไปประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยไม่มีผลกระทบต่อความต้องการใช้
• แหล่งก๊าซฯ ซอติก้า ระยะเวลาการซ่อมบำรุงจำนวน 10 วัน เริ่มดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม เป็นการเชื่อมต่อหลุมผลิตใหม่เพื่อรักษาความสามารถจ่ายก๊าซฯ ตามสัญญา ส่งผลให้ปริมาณก๊าซฯ ขาดหายไปประมาณ 640 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
• แหล่งก๊าซฯ เยตากุน ระยะเวลาการซ่อมบำรุงจำนวน 9 วัน เริ่มดำเนินการในช่วงสงกรานต์ของเดือนเมษายน โดยเป็นการปรับปรุงอุปกรณ์บนแท่นผลิตเพื่อรักษาระดับความสามารถในการผลิตก๊าซฯ ส่งผลให้ปริมาณก๊าซฯ ขาดหายไปประมาณ 570 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
• แหล่งก๊าซฯ เจดีเอ-เอ18 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย–มาเลเซีย เป็นงานต่อเนื่องจากการติดตั้งแท่นและอุปกรณ์เพิ่มความดันก๊าซฯ เพื่อรักษาความสามารถในการจ่ายก๊าซฯ ให้เป็นไปตามสัญญา ปริมาณก๊าซฯ จะขาดหายไปประมาณ 420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยคาดว่าจะดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม
“การซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ประจำปีแต่ละครั้ง ปตท. ได้วางแผนร่วมกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผู้ผลิต และภาคอุตสาหกรรม โดยพยายามให้มีการซ่อมบำรุงในช่วงในหยุดซึ่งมีความต้องการใช้ก๊าซฯ ต่ำที่สุด รวมทั้งวางแผนการจัดหาพลังงานสำรองทดแทนตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้พลังงานน้อยที่สุดในทุกๆ สถานการณ์ โดยในช่วงที่ผ่านมาแม้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยทางสภาพอากาศ แต่ ปตท. ก็ยังคงรักษาความสามารถในการจ่ายก๊าซฯ ได้ โดยเลื่อนแผนงานต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบออกไป เรียกรับก๊าซฯ จากผู้ผลิตเพิ่มเติม รวมทั้งจัดสรรก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้าสู่ระบบได้มากกว่าแผน โดยมีการใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลมาเสริมในภาคการผลิตไฟฟ้าบางส่วน อย่างไรก็ตาม ปตท. ไม่นิ่งนอนใจที่จะศึกษาและเร่งพัฒนาโครงข่ายพลังงานเพื่อลดความเสี่ยงจากปริมาณก๊าซฯ ที่ขาดหายไปจากการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ เพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศอย่างต่อเนื่องตามพันธกิจขององค์กร” นายนพดล กล่าวเสริม