- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 01 February 2016 17:36
- Hits: 1805
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังได้รับแรงหนุนจากข่าวการหารือปรับลดกำลังการผลิตระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มและนอกกลุ่มโอเปก
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน หลังได้รับแรงหนุนจากข่าวการหารือเพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกลงประมาณร้อยละ 5 เพื่อลดปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาด ซึ่งก่อนหน้านี้อิรักก็ออกมากล่าวว่าอิรักพร้อมจะปรับลดกำลังการผลิต ถ้าหากผู้ผลิตรายอื่นปรับลดลงด้วย โดยในสัปดาห์นี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเวเนซุเอลาจะเดินทางเยือนสมาชิกทั้งในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก เพื่อพยายามระดมเสียงสนับสนุนสำหรับการดำเนินมาตรร่วมกันในการพยุงราคาน้ำมันดิบ ในขณะที่ทางผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกรายใหญ่อย่างรัสเซีย ก็มีกำหนดการเดินทางไปเยือน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาเช่นกัน อย่างไรก็ดี ยังคงไม่มีความเห็นจากซาอุดิอาระเบียออกมาแต่อย่างใด
+ นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากการที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังไม่น่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในการประชุมธนาคารครั้งต่อไปในเดือน มี.ค. หลัง GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเติบโตเพียงร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า ต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าและต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.9 เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนนอกภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงปรับลดลง
- อย่างไรก็ดี ความพยายามในการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคายังคงมีอุปสรรค หลังอิหร่านได้ออกมากล่าวว่าอิหร่านจะไม่ร่วมกับกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตจนกว่าอิหร่านจะสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากระดับปัจจุบันที่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายหลังจากได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตรจากทางชาติตะวันตก ในเดือน ม.ค. อิหร่านมีการเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังลูกค้ากลุ่มเดิมในเอเชียมากขึ้น และล่าสุดได้มีการจ้างเรือบรรทุกน้ำมันดิบกว่า 6 ลำเพื่อขนส่งน้ำมันดิบและคอนเดนเสทไปยังเอเชียและยุโรปในเดือน ก.พ.
+ ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบลงอย่างต่อเนื่องท่ามกลางราคาน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ จากรายงานของ Baker Hughes สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ม.ค. พบว่าผู้ผลิตปรับลดแท่นขุดเจาะลงกว่า 12 แท่นจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 498 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานจากยุโรปและสหรัฐฯ ที่เข้ามายังทวีปเอเชียและอุปทานจาก ไต้หวันและอินเดียที่จะส่งออกเข้ามาในภูมิภาคในเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อจากเวียดนามที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดีเซลจากตะวันออกกลางและอินเดียที่ยังเข้ามาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ อุปสงค์ในภูมิภาคที่ยังคงเบาบาง อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์ที่ปรับลดลงกว่าร้อยละ 8.62
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 28-35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 28-35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมระหว่างรัสเซียและผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกที่อาจจะจัดขึ้นในเดือนหน้าว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบหรือไม่ หลังล่าสุดรัสเซียออกมากล่าวว่าจะมีการหารือกับซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มโอเปกเพื่อหาข้อตกลงในการลดกำลังการผลิต
สภาพอากาศที่หนาวเย็นลงทั่วโลกโดยเฉพาะในแถบเอเชียเหนืออุณหภูมิปรับลดลงอย่างฉับพลัน และสหรัฐฯ ที่เผชิญกับพายุหิมะ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนปรับตัวเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดรายงานโดย EIA พบว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 494.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติการณ์