- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 01 February 2016 17:31
- Hits: 1819
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังรัสเซียและกลุ่มโอเปกอาจจะหารือกันเพื่อลดกำลังการผลิต
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 28 – 35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 27 – 34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (1 - 5 ก.พ. 59)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่ายังคงได้รับแรงหนุนจากข่าวการหารือกันเพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบระหว่างผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกที่จะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าโอกาสที่จะปรับลดกำลังการผลิตเป็นไปได้ค่อนข้างยากเนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังคงต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาด นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันทำความร้อนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นทั่วโลก ประกอบกับ อิหร่านอาจจะเพิ่มการผลิตและส่งออกได้ช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากยังคงมีอุปสรรคหลายประการ อาทิ เรื่องกฎหมาย การประกันภัย และการทำธุรกรรมทางการเงิน อย่างไรก็ดี ราคายังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาการประชุมระหว่างรัสเซียและผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกที่อาจจะจัดขึ้นในเดือนนี้ว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบหรือไม่ หลังล่าสุดรัสเซียออกมากล่าวว่าจะมีการหารือกับซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มโอเปกเพื่อหาข้อตกลงในการลดกำลังการผลิต ซึ่งก่อนหน้านี้อิรักก็ออกมากล่าวว่าตนพร้อมที่จะปรับลดกำลังการผลิต ถ้าหากผู้ผลิตรายอื่นปรับลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าโอกาสที่จะปรับลดลงค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่กลัวที่จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดและด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของรัสเซียนั้น ค่อนข้างยากที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงชั่วคราวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตโดยรวม
สภาพอากาศที่หนาวเย็นลงทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชียเหนือ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน ที่อุณหภูมิปรับลดลงอย่างฉับพลัน รวมถึงสหรัฐฯ บริเวณฝั่งตะวันตกที่มีหิมะตกในหลายมลรัฐ และในฝั่งตะวันออกที่เผชิญกับพายุหิมะที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนปรับตัวเพิ่มขึ้นและทำให้ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเริ่มปรับลดลงแล้ว โดยข้อมูลล่าสุด สำนักงานสารเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลัง ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค. 59 ปรับลดลงกว่า 4.1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังอุปสงค์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามสภาพอากาศที่หนาวเย็น
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดรายงานโดย EIA พบว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 8.4 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 494.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าหากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นคล้ายกับค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 – 85 ของกำลังการผลิต ในสิ้นเดือน เม.ย. อย่างไรก็ดี หากการปรับเพิ่มขึ้นคล้ายกับปีก่อน ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ อาจจะสูงถึงร้อยละ 90 – 95 ของกำลังการผลิต
การส่งน้ำมันดิบของอิหร่านยังคงเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ อาทิ ปัญหาด้านการประกันภัยและด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มผู้ค้าน้ำมัน (Trader) พยายามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านไปยังทวีปยุโรป แต่ติดปัญหาเรื่องการประกันภัย ทำให้แนวโน้มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะเพิ่มขึ้นได้น้อยกว่าที่อิหร่านคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรลต่อวันทันที อย่างไรก็ตาม ล่าสุดอิหร่านได้มีการทำสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบกับกรีซแล้ว โดยจะเริ่มมีการส่งมอบในเดือนหน้าเป็นต้นไป
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตจีนและยูโรโซน อัตราการว่างงานยูโรโซน ยอดค้าปลีกยูโรโซน รายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ และอัตราการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 – 29 ม.ค.59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 33.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.81 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 35.99 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 29 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดได้รับแรงสนับสนุนหลังจากรัสเซียประกาศว่าจะร่วมหารือกับกลุ่มประเทศโอเปกและประเทศซาอุดิอาระเบียเพื่อหาข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ รวมถึงบริษัทผู้ผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ออกมาประกาศว่าจะลดการลงทุนขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากรายงานการผลิตน้ำมันดิบของอิรักในเดือน ธ.ค. ที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้