- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 26 January 2016 17:52
- Hits: 5492
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอีกครั้ง หลังจากการผลิตน้ำมันดิบของอิรักแตะระดับสูงสุด
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอีกครั้ง หลังจากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกัน เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันจากรายงานการผลิตน้ำมันดิบของอิรักในเดือนธันวาคมที่ออกมาสูงถึงระดับ 4.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นระดับการผลิตสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศอิรัก ยิ่งไปกว่านั้น รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิรักยังได้เปิดเผยอีกว่า อิรักจะสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นอีก 400,000 บาร์เรลต่อวันภายในปี 2559 นี้
- นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์จากข้อมูลเบื้องต้นว่า ระดับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสำรองของสหรัฐฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากระดับการกลั่นของโรงกลั่นที่ปรับตัวลดลง ในส่วนของระดับน้ำมันเบนซินคงคลังสำรองของสหรัฐฯ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล
- Standard Chartered ยังคงมองว่า ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวลดลงได้อีกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยลบในตลาดยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้หากราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ จะทำให้อุปทานปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2560 ทำให้มีโอกาสให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวในช่วงปลายปี 2559 ถึง 2560
- HSBC ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2559 และ 2560 โดยมองว่าอุปทานมีแนวโน้มที่จะล้นตลาดอยู่ในปีนี้ โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีการคาดการถึงความต้องการใช้ที่จะปรับตัวลดลงตามการขับขี่ที่ลดลง เนื่องจากหิมะตกในประเทศจีน ถึงแม้ว่าจะมีความอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศเคนย่า และการเพิ่มระยะเวลาซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในประเทศจอร์แดน ก็ตาม
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีแรงซื้อจากประเทศเวียดนามเข้ามาในตลาด นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกน้ำมันดีเซลออกไปนอกภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 28-35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 27-34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ และธนาคารกลางยุโรปในเดือน มี.ค. ว่าจะมีการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมหรือไม่ หลังล่าสุดประธานธนาคารกลางทั้งสองแห่งส่งสัญญาณการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
สถานการณ์พายุหิมะที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีทางตะวันออกของสหรัฐฯ ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทำความร้อนปรับตัวสูงขึ้น
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่อาจปรับเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร โดยอิหร่านคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการส่งออกน้ำมันดิบราว 500,000 บาร์เรลต่อวันได้ทันที ซึ่งประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวันจะถูกส่งไปยังยุโรป