- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 19 January 2016 18:37
- Hits: 2115
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปี หลังได้รับแรงกดดันจากอิหร่านที่คาดจะเพิ่มการส่งออกในเร็วนี้
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องเข้าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปี เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอิหร่านที่คาดว่าจะเพิ่มการส่งออกในเร็วนี้ ทำให้ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังในรายงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือ IAEA ได้ออกมายืนยันว่าอิหร่านได้มีการปฎิบัติตามข้อตกลงที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มชาติตะวันตก (P5+1) แล้ว ทำให้สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่าน ส่งผลให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้ตามปกติ ภายหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร อิหร่านได้มีความพยายามในการเพิ่มการส่งออกประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน โดยนักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่คาดว่าปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะมาจากน้ำมันที่มีการจัดเก็บไว้ในเรือ (Floating Storage) ซึ่ง IEA ได้มีการประมาณว่ามีทั้งสิ้นประมาณ 42 ล้านบาร์เรล
-/+ ตลาดจับตาการรายงานตัวเลข GDP จีนในไตรมาส 4 ในวันนี้ โดยนักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่คาดว่าหาก GDP จีนเติบโตน้อยกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับร้อยละ 6.9 จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันและปรับลดลงต่อเนื่องได้
+/- ในรายงานล่าสุดประจำเดือน ม.ค. ของกลุ่มโอเปก พบว่า OPEC คาดว่าอุปทานน้ำมันดิบจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกจะปรับลดลง 660,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากในรายงานฉบับก่อนที่คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงเพียง 380,000 บาร์เรลต่อวัน โดยสาเหตุหลักของการปรับลดลงเนื่องจากว่าราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างมากจนต่ำกว่าระดับ 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบหลายรายไม่คุ้มค่าและต้องยุติการผลิต โดยปริมาณการผลิตที่ปรับลดลงค่อนข้างมากมาจากสหรัฐฯ สำหรับความต้องการใช้น้ำมันโลกในปีนี้ โอเปกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวันจากรายงานฉบับก่อน อย่างไรก็ดี ปรับลดลงจากปีก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 1.54 ล้านบาร์เรลต่อวันค่อนข้างมาก เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากแรงซื้อขายที่เบาบางลง เนื่องจากราคาที่ปรับลดลงอย่างมากส่งผลให้ผู้ซื้อหลายรายชะลอการซื้อลง อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงหลังราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากไต้หวันและอินเดียที่ส่งออกมากขึ้น ประกอบกับจีนที่เพิ่มการส่งออกสูงมากขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงหนุนจากเวียดนามที่ยังคงนำเข้าน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับสูง
ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 28-35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 27-34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการรายงานตัวเลข GDP ของจีนในไตรมาส 4 ว่าภาวะเศรษฐกิจของจีนยังคงแนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หลังภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Caixin PMI) ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 กว่า 10 เดือนติดต่อกัน
ติดตามท่าทีของกลุ่มชาติตะวันตกต่อการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่าน หลังล่าสุดมีรายงานว่ายุโรปและสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวในเร็วนี้
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 8 ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 482 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 94 ล้านบาร์เรล