WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIL37ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 18-22 ม.ค.59 และสรุปสถานการณ์ฯ 11-15 ม.ค.59

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (18 - 22 ม.ค. 59)
  ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากสภาวะตลาดหุ้นจีนที่ค่อนข้างผันผวน โดยล่าสุดดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าทางการจีนจะออกมาตรการในการลดความผันผวนแล้วก็ตาม ประกอบกับ อิหร่านที่คาดว่าจะมีการเพิ่มการส่งออกภายในปลายไตรมาสนี้ หลังจากรายงานฉบับสุดท้ายของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อิหร่านมีการปฎิบัติตามข้อตกลงที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มชาติตะวันตก ทำให้ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปคาดว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรและส่งผลให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกได้ตามปกติ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
   จับตาการรายงานตัวเลข GDP ของจีนในไตรมาส 4 ว่าภาวะเศรษฐกิจของจีนยังคงแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หลังภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Caixin PMI) ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 กว่า 10 เดือนติดต่อกัน ประกอบกับ ตลาดหุ้นจีนที่ค่อนข้างผันผวน โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นปรับลดลงกว่าร้อยละ 16 นับจากต้นปีที่เปิดการซื้อขาย แม้ว่าล่าสุดทางการจีนออกมาตรการเพื่อลดความผันผวนในการยกเลิกกลไก “เซอร์กิต เบรกเกอร์” หรือมาตรการหยุดการซื้อขายชั่วคราวทุกครั้งที่ราคาลงมากกว่าร้อยละ 7 แล้วก็ตาม แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดทุนและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกให้ปรับลดลงอย่างมาก
   ติดตามท่าทีของกลุ่มชาติตะวันตกต่อการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่าน หลังล่าสุดมีรายงานว่ายุโรปและสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวในเร็วนี้ หลังจากรายงานฉบับสุดท้ายของ IAEA อิหร่านมีการปฎิบัติตามข้อตกลงที่เคยตกลงไว้กับชาติตะวันตกในเดือน ก.ค. 58 ว่าอิหร่านจะต้องลดจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยง (Centrifuges) และปริมาณแร่ยูเรเนียมในประเทศ โดยอิหร่านคาดว่าหลังจากการยกเลิกคว่ำบาตรจะส่งผลให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรลต่อวันในทันที และเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเวลาต่อมา ซึ่งส่งผลกดดันให้ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดจะยังคงไม่คลี่คลายในเร็วนี้ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกอาจจะไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นในทันที
   ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 8 ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 482 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 94 ล้านบาร์เรล นอกจากนั้น ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอคลาโฮมา ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 64 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 30 ล้านบาร์เรล และระดับดังกล่าวยังใกล้กับระดับสูงสุดในปัจจุบันที่ประมาณ 73 ล้านบาร์เรล สร้างแรงกดดันต่อตลาดว่าพื้นที่สำหรับจัดเก็บน้ำมันดิบในสหรัฐฯ อาจจะไม่เพียงพอ
   แม้ว่าปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 516 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี แต่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่า 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะเดียวกันกลุ่มโอเปกเองก็ยังคงปริมาณการผลิตในระดับที่ค่อนข้างสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินยังคงล้นตลาด อย่างไรก็ดี ภาวะอุปทานส่วนเกินดังกล่าวคาดจะลดลงบ้างหลังรายงานประจำเดือน ม.ค. EIA คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปีนี้จะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.7 ล้านบาร์เรลต่อวันและอยู่ที่ประมาณ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า
   ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ GDP ไตรมาส 4/59 ของจีน ยอดค้าปลีกจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน จำนวนที่อยู่อาศัยที่กำลังก่อสร้างและดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 – 15 ม.ค.59)
  ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 3.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 29.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 4.61 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 28.94 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 25 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลต่อตลาดหุ้นจีนและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ซึ่งมีอาจส่งผลต่อการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันของจีน ผู้บริโภคน้ำมันดิบรายใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ประกอบกับความกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันโลกที่อาจชะลอตัว หลังจากปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด หลังจากอิรัก ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ในกลุ่มโอเปกวางแผนที่จะส่งออกน้ำมันดิบราว 3.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. จากท่าเรือทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งนับเป็นการส่งออกที่มากที่สุดนับแต่เดือน พ.ย. 58 ที่ผ่านมา


Weekly_Oil_TH_2015 12 14

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!