- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 21 September 2015 23:22
- Hits: 8414
ไทยออยล์ รายงานแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 21-25 ก.ย.58 และสรุปสถานการณ์ราคาฯ 14-18 ก.ย. 58
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 43 – 48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 46 – 52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (21 – 25 ก.ย. 58)
ราคาน้ำมันดิบยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ เนื่องจากถูกกดดันโดยเศรษฐกิจจีนที่ยังคงชะลอตัวลง โดยดัชนีภาคผลิต (Caixin PMI) ในเดือน ก.ย. คาดว่าจะมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ประกอบกับ กลุ่มโอเปกยังคงปริมาณการผลิตในระดับสูงและมีการปรับลดราคาขายน้ำมันดิบ (OSPs) ไปยังตลาดเอเชียลง สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มโอเปกยังคงต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะรัสเซีย อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง หลังราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าในการผลิตสำหรับผู้ผลิตบางรายและจำเป็นต้องหยุดการผลิตลงในหลุมใหม่
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจจีน หลังดัชนีภาคการผลิต (Caixin PMI) ในเดือน ก.ย. คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 สร้างความกังวลว่าในไตรมาส 3 เศรษฐกิจจีนจะเติบโตน้อยกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 7 ซึ่งผลกระทบดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคน้ำมันของจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันอันดับ 2 ของโลก ขณะที่สถานการณ์ตลาดหุ้นจีนก็ยังเป็นที่น่าจับตามอง หลังยังคงเผชิญกับความผันผวน แม้ว่าคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ของจีน หรือ CSRC จะได้มีการตรวจสอบการซื้อขายที่ผิดปกติอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยมีการออกมาตรการเพื่อควบคุมและลงโทษ ประกอบกับ การที่รัฐบาลจีนอัดฉีดเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 236 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยพยุงตลาดหุ้น แต่ก็ไม่สามารถลดความผันผวนของตลาดหุ้นลงได้
ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ โดยยังคงผลิตน้ำมันดิบอยู่ในระดับที่สูงกว่า 31 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีปริมาณการผลิตล่าสุดในเดือน ส.ค. อยู่ที่ประมาณ 31.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกได้แก่ คูเวต อิหร่าน ยังปรับลดราคาขายน้ำมันดิบ (OSPs) ที่จะขายไปยังตลาดเอเชียในเดือน ต.ค. ลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียที่ปรับลดราคาขายน้ำมันดิบไปเมื่อช่วงต้นเดือน
จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่องอาจเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบลดลงไม่มากนัก โดยรายงานล่าสุดของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) พบว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 11 ก.ย. ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดในเดือน มิ.ย. 58 ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บางส่วนลดการผลิตในหลุมใหม่และปรับลดงบลงทุน (CAPEX) อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดคาดว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบซึ่งรายงานโดย Baker Hughes น่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังจากเมื่อ 3 สัปดาห์ล่าสุดปรับลดลงมาแล้วกว่า 30 หลุม
การลงมติคัดค้านการยกเลิกคว่ำบาตรของ Republican ที่ไม่เป็นผลสำเร็จ หลังมีความพยายามถึง 2 ครั้งในการล้มข้อตกลงดังกล่าว แต่ไม่สามารถผลักดันมติดังกล่าวได้เนื่องจากมีคะแนนเสียงสนับสนุนไม่ถึง 60 เสียง จึงส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่สหรัฐฯ จะยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน อย่างไรก็ตาม อิหร่านยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มได้ในเร็วนี้ เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และกลุ่มสหประชาชาติต้องรอรายงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) วันที่ 15 ธ.ค. ก่อนเพื่อรอผลตรวจสอบว่าอิหร่านมีการปฎิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวจริง โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอิหร่านจะเพิ่มการส่งออกได้ทั้งสิ้นราว 3 – 7 แสนบาร์เรลต่อวันในกลางปีหน้า นอกเหนือจาก น้ำมันดิบที่ถูกเก็บไว้ในเรือบรรทุกน้ำมัน (Floating Storage) ของอิหร่านราว 46 ล้านบาร์เรล
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิตของจีนและยุโรป ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ และจีดีพี Q2/15 ของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 – 18 ก.ย. 58)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 44.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.67 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 47.47 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 44 เหรียญสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันดิบได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ EIA ได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ของกำลังการผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ ว่าจะปรับตัวลดลงกว่า 80,000 บาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 5.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค. และการที่ Baker Hughes รายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันที่ลดลงอีก 16 หลุม เหลือ 646 หลุม สิ้นสุดวันที่ 11 ก.ย. 58 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ความไม่แน่นอนของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันดิบให้ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 3 เหรียญ ในช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากหากเฟดคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้เช่นเดิม ก็จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงและทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม