- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 28 June 2014 21:04
- Hits: 2946
ชงคสช.อนุมัติเปิดสัมปทานปิโตรฯรอบ 21 ชี้อาจเจอขุมทองพลังงานครั้งใหญ่ถึง 22 แปลง
บ้านเมือง : กระทรวงพลังงาน เตรียมชง 'พล.อ. ประยุทธ์'ในฐานะประธาน กพช.ชุดใหม่ อนุมัติเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 ชี้มีความจำเป็นปริมาณก๊าซฯของประเทศลดลงทุกปี เผย 22 แปลงมีศักยภาพพบปิโตรเลียม เป็นพื้นที่ใหม่ที่ยังไม่มีเอกชนรายใดยื่นเสนอ และเป็นพื้นที่ไม่กระทบต่อชุมชนและพื้นที่ชายฝั่ง
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ชุดใหม่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ จะมีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติการเปิดยื่นขอสำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 21 เนื่องจากที่ผ่านมามีความล่าช้ามากว่า 2 ปีแล้ว เนื่องจากปัญหาการคัดค้านจากประชาชน ทำให้ที่ผ่านมาต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการตามขั้นตอนจนเสร็จสิ้นแล้ว
สำหรับ การเปิดยื่นข้อเสนอสำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบ 21 นี้ เนื่องจากมีความจำเป็นในการหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ เพราะปัจจุบันปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยเริ่มลดลงทุกปี จากปัจจุบันผลิตได้ 3.558 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในอีก 8 ปีข้างหน้าหรือปี 2565 จะลดลงเหลือ 2.916 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และหลังจากนั้นในแต่ละปีจะทยอยลดลง 100-200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากไม่มีการลงทุนสำรวจและพัฒนาแหล่งก๊าซฯเพิ่มขึ้นมา การผลิตก๊าซธรรมชาติจะถดถอยลงเรื่อยๆ จนหมดไปในที่สุด ซึ่งหากวันนั้นมาถึง โรงไฟฟ้าที่เคยใช้ก๊าซจากอ่าวไทย ก็จะต้องทดแทนด้วยก๊าชแอลเอ็นจีนำเข้าที่มีราคาสูงกว่าเกือบหนึ่งเท่าตัว
"ปัจจุบันเรามีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่พิสูจน์แล้ว ประมาณ 9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แต่เราใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งบนเงื่อนไขที่ว่า ไม่มีการพบปริมาณสำรองเพิ่มขึ้นและยังรักษาระดับการผลิตในระดับเดิมเอาไว้ได้ เราจะมีก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ไปได้อีกประมาณ 7 ปีเท่านั้น ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในทั้งนี้ แหล่งปิโตรเลียมที่จะนำมาเปิดให้มีการยื่นขอสำรวจในรอบ 21 นี้ จะเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่กลุ่มพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง จำนวน 6 แปลง กลุ่มพื้นที่ภาตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 11 แปลง และกลุ่มพื้นที่ในอ่าวไทยจำนวน 5 แปลง รวม 22 แปลง ทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยเปิดให้มีการสำรวจมาก่อน ซึ่งเป็นการเลือกเฉพาะพื้นที่ที่คิดว่า มีศักยภาพปิโตรเลียมจริงๆ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่คาดว่าจะมีปัญหา เช่น พื้นที่ชุมชน พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ใกล้ฝั่ง เป็นต้น
"สัญญาสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมตาม พ.ร.บ.ปีพ.ศ.2514 จะหมดลงในปี 2565 และ2566 ซึ่งอย่าคิดว่ายังมีเวลาเหลืออีก 10 ปี ค่อยมาพิจารณาต่อสัญญาสัมปทาน เนื่องจากธุรกิจผลิตปิโตรเลียมไม่เหมือนการลงทุนด้านอื่น เพราะต้องลงทุนเพิ่มในการขุดเจาะอยู่เสมอ ที่สำคัญแหล่งน้ำมันในประเทศไทยเป็นแหล่งเล็กๆ ยิ่งต้องลงทุนต่อเนื่อง และคงไม่มีบริษัทไหนกล้าเสี่ยงทำ ถ้าไม่เห็นอนาคตที่ชัดเจนว่านโยบายภาครัฐมีความชัดเจน"
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จึงอยากให้คสช.เร่งตัดสินใจต่อสัญญาสัมปทานแปลงปิโตรเลียม โดยพิจารณาให้กับผู้ประกอบการรายเดิมๆ ที่มีความพร้อมและได้ลงทุนไปแล้วจำนวนมาก เพื่อให้เห็นทิศทางและพร้อมที่จะลงทุนเพิ่ม รวมถึงเป็นการตอกย้ำความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ส่วนเรื่องผลประโยชน์ของประเทศนั้น ถ้ายังเชื่อว่าระบบ Thailand3 ให้ผลประโยชน์แก่ประเทศชาติน้อย คสช.ก็สั่งการให้แก้ไข ให้มีการเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นค่าภาคหลวง, ภาษีเงินได้หรือแม้แต่ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษในอัตราที่เหมาะสม คงไม่มีบริษัทผู้รับสัมปทานรายเดิมปฏิเสธ