- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 10 September 2015 22:22
- Hits: 12628
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากความกังวลต่อปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาดและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
-ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบนรท์ปรับลดลงราว 4 เปอร์เซนท์ โดยตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้ามีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาดอยู่ สืบเนื่องจากกำลังการผลิตทั่วโลกอยู่ในระดับที่สูงและความกังวลต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านที่มากขึ้น หลังมาตรการการคว่ำบาตรสิ้นสุด
- นอกจากนี้ ตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ รายงานโดยสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 4 ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 459 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.93 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯ มีการลดกำลังการผลิตลง ทำให้อุปสงค์น้ำมันดิบปรับตัวลดลง สำหรับปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุด ส่งมอบ คุชชิ่ง นั้น ปรับลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตามองการรายงานตัวเลขของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ที่จะประกาศในวันนี้
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดการคาดการณ์ความต้องการน้ำมันดิบโลกในปีนี้ประมาณ 90,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 1.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศจีน รวมถึงปรับลดการคาดการณ์ความต้องการน้ำมันดิบในปี 2559 ลง 150,000 บาร์เรล มาสู่ระดับ 1.31 ล้านบาร์เรล
+/- ทางด้านปริมาณน้ำมันดิบส่งออกในเดือน สค. จากซาอุดิอาระเบียลดลงในเดือน สค. มาอยู่ที่ 10.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดีปริมาณน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูงตามนโยบายของกลุ่มโอเปกที่ต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ ในขณะที่รัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบนอกกลุ่มโอเปก ก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดกำลังการผลิตลง อย่างไรก็ดี เวเนซุเอลาได้ออกมาเรียกร้องให้มีการประชุมเพื่อหาแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำในขณะนี้ แต่ยังไม่มีท่าทีการตอบรับจากทางกลุ่มโอเปก
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ในภูมิภาคและทางสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงหลังหมดฤดูกาลท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ตลาดได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่เริ่มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่น เริ่มเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ที่ดีในฝั่งแอฟริกาตะวันออกช่วยสนับสนุนราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดีงานสัมมนา Asia-Pacific Petroluem Conference (APEC) ที่สิงคโปร์ ในสัปดาห์นี้ ทำให้การซื้อขายในตลาดเบาบางลง ประกอบกับอุปทานน้ำมันดีเซลยังคงล้นตลาด โดยเฉพาะทางด้านญี่ปุ่นและไต้หวัน หลังโรงกลั่นกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 47-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะมีกำหนดจะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 16-17 ก.ย. นี้ ว่าจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้หรือไม่ โดยผลสำรวจล่าสุดจาก Bloomber พบว่าโพลที่คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้มีเพียง 48% ถือว่าลดลงจากการสำรวจเมื่อเดือนที่ 77% อย่างไรก็ดี นางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed ย้ำว่ามีความเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน ก.ย. ของสำนักสารสนเทศน์ด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ในวันที่ 9 ก.ย. และสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ในวันที่ 11 ก.ย. นี้ ว่าจะมีการปรับเพิ่ม/ลด คาดการณ์ความต้องการใช้และอุปทานน้ำมันดิบอย่างไร รวมถึงมุมมองต่อทิศทางราคา
น้ำมันในปีนี้และปีหน้า
กลุ่มโอเปกแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ และพร้อมที่จะเจรจากับผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคา ล่าสุดเวเนซุเอลาได้พยายามติดต่อประเทศสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มโอเปก เพื่อผลักดันการจัดการประชุมฉุกเฉินขึ้นร่วมกับรัสเซีย และมุ่งหามาตรการเพื่อกระตุ้นราคาน้ำมันดิบที่ทรุดตัวลงอย่างแรง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีสัญญาณจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียถึงการเจรจาเพิ่มเติมกับผู้ผลิตรายอื่น
ติดตามทิศทางเศรษฐกิจจีนที่กำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัว โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยตัวเลขดัชนีภาคการผลิตจีน (PMI) ประจำเดือน ส.ค. 58 ที่ออกมาหดตัว ซึ่งถือว่าหดตัวมากที่สุดในรอบ 3 ปี ส่งผลให้นักลงทุนวิตกมากขึ้นว่าประเทศจีนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก อาจกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะชะลอตัวรุนแรง