- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 12 August 2015 09:03
- Hits: 2761
เลขาฯสผ.ชี้แม้โรงไฟฟ้ากระบี่เปิดประมูลแล้วแต่ยังสร้างไม่ได้หาก EIA ยังไม่ผ่าน
นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สผ.ยังไม่พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ของโครงการส่วนขยายโรงไฟฟ้ากระบี่ และโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้วของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) จนกว่าคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพ ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ตัวแทนจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ และภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะพิจารณารายงานดังกล่าวแล้วเสร็จ
"แม้ กฟผ.จะเดินหน้าขั้นตอนการประมูลก่อนการก่อสร้างแล้ว ก็จะยังไม่สามารถดำเนินการเดินหน้าการก่อสร้างได้ หาก EIA ยังไม่ผ่าน ทั้งนี้ สผ.จะไม่พิจารณารายงานดังกล่าว แม้ กฟผ.จะไม่ถอนรายงานกลับคืนไปก็ตาม"
นางรวีวรรณ กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มคัดค้านระบุว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำ EIA นั้น ขั้นตอนดังกล่าวได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในประกาศกระทวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) มีรายละเอียดที่ข้ามขั้นตอนไม่ได้ เช่น ต้องมีการระบุรายชื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีการซักถามความเห็นเพิ่มเติมโดย สผ.จะตรวจสอบว่า ขั้นตอนนี้ดำเนินการครบถ้วนหรือไม่
ทั้งนี้ ที่พบว่า โครงการได้ก่อสร้างผ่านพื้นที่ป่าชายเลน การดำเนินการจะต้องมีความสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ต้องขออนุญาติการใช้พื้นที่และให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้อนุมัติจึงจะดำเนินการได้
รายงานข่าว ระบุว่า ที่ผ่านมามีการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่เห็นว่าไม่ควรมีการเปิดประมูลเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้า กรณีนี้ถ้าเปิดประมูลไปแล้วก็ต้องยกเลิก เพราะเปิดซองไปแล้วได้ผู้ชนะมาก็ยังทำอะไรไม่ได้ ก่อสร้างอะไรก็ไม่ได้ เพราะรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ยังไม่ผ่าน ยิ่งกรณีที่จะมีการสร้างอุโมงค์มุดพื้นที่ป่าชายเลน ระยะทางถึง 9 กิโลเมตร
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังจะไม่อนุญาตโครงการนี้ต่อ กฟผ. เนื่องจากพบว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) มีการวัดพิกัดกันเฉพาะในแผนที่ แต่ไม่มีรายละเอียดในพื้นที่จึงมีจุดอ่อนจำนวนมาก ซึ่งพบว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)ได้ติงไปหลายข้อ ซึ่งบทสรุปของการหารือในครั้งนั้น สรุปว่า กฟผ.ควรรีบมาถอน EHIA ออกจากการพิจารณาของคชก.เพื่อแสดงความจริงใจ
อินโฟเควสท์