- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 12 August 2015 08:59
- Hits: 2868
เปิดช่องเอกชนสำรวจปิโตรพลังงานยอมให้เลือกสัมปทานหรือ PSC
ไทยโพสต์ : วิภาวดีรังสิต * กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยอมเปิดทางให้เอกชนเลือกจะเอาสัมปทาน หรือ พีเอสซี ทั้ง 29 แปลงสำรวจปิโตรเลียม ด้าน ‘ณรงค์ชัย’ ชี้ศักยภาพปิโตรเลียมภาคอีสานไม่จูงใจ แหล่งดงมูลที่พบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ ใช้ทำเอ็นจีวีป้อนรถแทนผลิตไฟฟ้า
นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดให้เอกชนยื่นขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่มีความล่าช้า ว่า ขั้นตอนในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 อยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะส่งเรื่องต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจากนั้นทาง สนช.คงจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว และไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า ขั้นตอนการพิจารณา ในส่วนของ สนช.จะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน และจะแล้วเสร็จก่อนปีงบประมาณ 2558 นี้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในการออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่น ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งจะดำเนินการตามร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ปรับแนวทางใหม่ จากเดิมที่จะแบ่งแปลงสำรวจ 3 แปลงเดิมในอ่าวไทย คือ G3, G5 และ G6 ให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ส่วนอีก 26 แปลงสำรวจจะใช้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส มาเป็นเปิดช่องให้เอกชนสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะอยู่ภายใต้ระบบสัมปทานหรือระบบพีเอสซี ทั้ง 29 แปลง โดยโครงสร้างการกำกับดูแลภายใต้ระบบพีเอสซี จะใช้รูปแบบเดียวกับที่ดำเนินการในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย
"การเสนอทางออกโดยเปิดช่องให้เอกชน เป็นผู้เลือกได้เอง ว่าจะยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตภายใต้ระบบสัมปทานแบบเดิมหรือระบบพีเอสซี น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็มีการแก้ไขร่างกฎหมายปิโตรเลียมออกมารองรับ อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ทันภายในเดือน ก.ย.2558 นี้ และจะต้องเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปแล้วนั้น เรื่องดังกล่าวคงจะต้องอยู่ในการตัดสินใจของอธิบดีคนใหม่"นางพวงทิพย์กล่าว
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขั้นตอนการเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่นั้น รอเพียงร่างแก้ไขกฎหมาย ผ่านความเห็นชอบของ สนช.มาเท่านั้น ก็จะสามารถลงนามออกประกาศเชิญชวนเอกชนได้ทันที
"ยอมรับว่า ศักยภาพปิ โตรเลียมของแปลงสำรวจ ที่จะเปิดให้มีการยื่นขอสิทธิสำรวจนั้น ไม่ได้มีศักยภาพที่สูงพอที่จะจูงใจให้บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหญ่เข้ามาสำรวจได้ และรัฐคงจะไม่สามารถที่จะเสนอเพื่อเรียกผลตอบแทนที่สูงเกินกว่าศักยภาพที่มีอยู่ได้ ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่หลุมดงมูล 5 (DM-5) ต.กุงเก่า อ.ท่า คันโท จ.กาฬสินธุ์ ก็พบว่าปริ มาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในเชิงพาณิชย์นั้นมีเพียง 20 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และผลิตไปได้ประมาณ 15 ปี เท่านั้น ซึ่งถือเป็นแหล่งขนาดเล็ก และต้องใช้ระยะเวลาการสำรวจค่อนข้างนาน"นายณรงค์ชัยกล่าว
"ก๊าซที่ผลิตได้จากแหล่งดังกล่าว จะส่งไปยังสถานีปรับ ปรุงคุณภาพ จากนั้นจะส่งไปยัง สถานีผลิตก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) แทนการใช้ผลิตไฟฟ้า คาดว่าจะผลิตได้ประ มาณ 640 ตันต่อวัน ในปี 2560"นายณรงค์ชัยกล่าว.