- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 06 August 2015 21:15
- Hits: 4127
ราคาน้ำมันดิบลดลง หลังปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังสหรัฐฯ พุ่งขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัว
-ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังอุปสงค์น้ำมันเบนซินและดีเซลในสหรัฐฯ ชะลอตัว โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้รายงานปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 811,000 บาร์เรล ไปแตะที่ 216.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 500,000 บาร์เรล ส่วนปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 709,000 บาร์เรล ไปสู่ระดับ 144.8 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 52,000 บาร์เรล สู่ระดับ 9.465 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัว หลังดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวานนี้ (5 ส.ค.) ไปอยู่ที่ระดับ 17,540.47 จุด ประกอบกับรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่เปิดเผยว่าสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 43.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. ซึ่งสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมากกว่าคาดการณ์ที่ 42.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยอดขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ และอุปสงค์ต่างประเทศที่ซบเซา
- นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. ที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 185,000 ราย ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 215,000 ราย และยังต่ำกว่าในเดือน มิ.ย. ที่เพิ่มขึ้นถึง 237,000 ราย
+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับลดลงไปมากนัก เนื่องจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค. ปรับลดลง 4.41 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 455.28 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล ทางด้านปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุด ส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 542,000 บาร์เรล
+ ในขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มดีขึ้น หลังมีการประกาศตัวเลขดัชนีภาคการบริการจีน (Caixin PMI) ในเดือน ก.ค. ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ 51.8 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากประเทศจีนเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันเบนซินฝั่งสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับอุปสงค์ในภูมิภาคที่ยังค่อนข้างดี นอกจากนี้ตัวเลขปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของญี่ปุ่นที่ลดลง 3 สัปดาห์ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 9.85 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันเบนซินอีกด้วย เนื่องจากช่วงนี้ญี่ปุ่นเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดน้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังถูกกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาด หลังอุปสงค์ในภูมิภาคมีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี อุปทานน้ำมันดีเซลจากตะวันออกกลางไม่ได้เข้ามากดดันในตลาดเอเชียมากนัก เนื่องจากมีการส่งออกไปทางยุโรปด้วย
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่่น่าจับตามอง
จับตาทิศทางเศรษฐกิจของจีนว่าจะเป็นเช่นไรต่อไป หลังตลาดหุ้นจีนกลับมาผันผวนหนักอีกครั้งหนึ่ง แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนจะมีการระดมมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะช่วยพยุงการดิ่งตัวของตลาดหุ้นแล้วก็ตาม ส่งผลให้นักลงทุนยังมีความกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจของจีนต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายคาดว่ารัฐบาลจีนจะทุ่มเงินอีกครั้งหนึ่งเพื่อพยุงตลาดหุ้นที่ตกครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งอาจจะทำให้มีนักลงทุนเข้าไปช้อนซื้อเพื่อทำกำไร ส่งผลให้ราคาหุ้นอาจจะสูงขึ้นแบบฟองสบู่ ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำมันเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ดังนั้นหากเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวก็จะทำให้ราคาน้ำมันถูกกดดันปรับลดลงไปได้
ติดตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานซึ่งสิ้นสุดวันที่ 18 ก.ค. ลดลงแตะระดับต่ำที่ในรอบ 42 ปี ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นและส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบ
บริษัทน้ำมันหลักหลายรายเตรียมประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2/58 ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับลดลงราว 40% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอาจนำไปสู่แผนการปรับลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ของปีหน้าได้ แม้ว่าในปีนี้จะมีบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่หลายรายปรับลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ไม่จำเป็น รวมถึงลดจำนวนพนักงานลงไปบ้างแล้วก็ตาม ทั้งนี้ หากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันมีการปรับลดแผนการผลิตน้ำมันเพิ่มเติม ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนไม่ให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงไปมากนัก