- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 05 August 2015 23:12
- Hits: 8100
ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. หลังได้รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวขึ้น
+ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีน หลังจากจีนมีการเพิ่มมาตรการในการปราบปรามนักลงทุนที่ทำการ Short หุ้น โดยการห้ามนักลงทุนยืมและส่งมอบหุ้นคืนภายในวันเดียวกัน เพื่อเป็นการสกัดนักลงทุนในการเก็งกำไรหาประโยชน์จากความผันผวนระยะสั้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวนั้นมีผลบังคับใช้โดยทันที โดยภายหลังจากการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำขนาดใหญ่ของจีน 2 แห่งได้แก่ Citic และ Huatai Securities ได้มีการดำเนินการจำกัดการซื้อขายประเภทแบบ Short ไว้เป็นการชั่วคราว นอกจากนี้คณะกรรมการกำกับตรวจสอบหลักทรัพย์แห่งประเทศจีน (CSRC) ได้มีการสั่งระงับบัญชีการซื้อขายบัญชีเทรดหลักทรัพย์ของ Citadel Securities ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติแห่งแรกที่ถูกดำเนินการ โดยบริษัทดังกล่าวเป็นของสหรัฐฯ
+ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงสนับสนุนจากการลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ หลังสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค. ปรับลดลง 2.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 459.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล สำหรับปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุด ส่งมอบ คุชชิ่ง นั้น ปรับลดลง 504,000 บาร์เรล อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตามองการรายงานตัวเลขของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ที่จะรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการในวันนี้
- อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบเป็นการฟื้นตัวในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกยังคงปริมาณการผลิตอยู่ในระดับสูง โดยจากข้อมูลสำรวจล่าสุดของ Reuters พบว่า ในเดือน ก.ค. 58 โอเปกมีการผลิตน้ำมันดิบรวมทั้งสิ้นกว่า 32.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ของกลุ่ม โดยปริมาณการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นส่วนใหญ่มาจาก อิรัก และ ซาอุดิอาระเบีย ในขณะที่อุปสงค์โดยเฉพาะจากจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนจากดัชนีภาคผลิตที่ปรับตัวต่ำสุดในรอบ 2 ปี ส่งผลให้โดยรวมแล้วมีอุปทานส่วนเกินในตลาดราว 1.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังราคาชะลอตัวลงตามราคาน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ประกอบกับไต้หวันที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแม้ว่าจะมีการปิดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินก็ตาม อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Bukom ที่สิงคโปร์ ขนาด 210,000 บาร์เรลต่อวันเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน ส่งผลให้มี
แรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ทางด้านอียิปต์และศรีลังกา อย่างไรก็ตาม ราคายังคงถูกกดดันโดยอุปทานน้ำมันดีเซลส่วนเกินในตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากจีน อินเดีย และตะวันออกกลางยังคงส่งออกน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่อง หลังอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาทิศทางเศรษฐกิจของจีนว่าจะเป็นเช่นไรต่อไป หลังตลาดหุ้นจีนกลับมาผันผวนหนักอีกครั้งหนึ่ง แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนจะมีการระดมมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะช่วยพยุงการดิ่งตัวของตลาดหุ้นแล้วก็ตาม ส่งผลให้นักลงทุนยังมีความกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจของจีนต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายคาดว่ารัฐบาลจีนจะทุ่มเงินอีกครั้งหนึ่งเพื่อพยุงตลาดหุ้นที่ตกครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งอาจจะทำให้มีนักลงทุนเข้าไปช้อนซื้อเพื่อทำกำไร ส่งผลให้ราคาหุ้นอาจจะสูงขึ้นแบบฟองสบู่ ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำมันเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ดังนั้นหากเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวก็จะทำให้ราคาน้ำมันถูกกดดันปรับลดลงไปได้
ติดตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานซึ่งสิ้นสุดวันที่ 18 ก.ค. ลดลงแตะระดับต่ำที่ในรอบ 42 ปี ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นและส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบ
บริษัทน้ำมันหลักหลายรายเตรียมประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2/58 ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับลดลงราว 40% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอาจนำไปสู่แผนการปรับลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ของปีหน้าได้ แม้ว่าในปีนี้จะมีบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่หลายรายปรับลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ไม่จำเป็น รวมถึงลดจำนวนพนักงานลงไปบ้างแล้วก็ตาม ทั้งนี้ หากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันมีการปรับลดแผนการผลิตน้ำมันเพิ่มเติม ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนไม่ให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงไปมากนัก