- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 05 August 2015 12:22
- Hits: 3918
กบง.ปรับลดราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือน ส.ค. ลง 1 บาท/กก. ส่งผลราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม ลดลง 15 บาท/ถัง 15 กก. พร้อมส่งเสริมการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง
คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติปรับลดราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนสิงหาคม 2558 ลง 1 บาท/กก. ส่งผลให้ราคาขายปลีกลดลง 22.96 บาท/กก. หรือราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มลดลง 15 บาท/ถัง 15 กก. และส่งเสริมการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้มีการชดเชยราคาให้กับโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงที่รับซื้อน้ำมันจากขยะพลาสติก ระยะเวลา 3 ปี
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนสิงหาคม 2558 ตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นแบบถ่วงน้ำหนัก (LPG Pool) และเห็นชอบให้ลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของก๊าซ LPG ที่ 0.15 บาท/กก. จาก 1.07 บาท/กก. เป็น 0.92 บาท/กก. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 ส่งผลให้ราคาขายปลีกลดลง 1 บาท/กก. คงเหลืออยู่ที่ 22.96 บาท/กก. หรือราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม ลดลง 15 บาท/ถัง 15 กก. ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของก๊าซ LPG มีรายรับ 267 ล้านบาท/เดือน
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้มีการชดเชยราคาให้กับโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงที่รับซื้อน้ำมันจากขยะพลาสติก ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2561 และให้มีการทบทวนต้นทุนการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกทุกๆ 1 ปี โดยใช้กลไกประกันราคารับซื้อน้ำมันขยะพลาสติกเฉลี่ยที่ 14.50 บาทต่อลิตร โดยหากโรงกลั่นหรือผู้ค้าน้ำมันรับซื้อน้ำมันขยะพลาสติกจะสามารถได้รับอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์การคำนวณ คือ อัตราเงินชดเชย = 14.50 – ราคาน้ำมันดิบ
รวมทั้ง ที่ประชุม กบง. ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขกฎ/ระเบียบที่อาจไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เช่น ระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดเล็กมาก สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และระเบียบการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งว่าด้วยข้อกำหนดการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้า (Grid code) เป็นต้น เพื่อให้มีความสอดคล้องกับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT โดยไม่กระทบต่อระบบไฟฟ้า
ลดราคาก๊าซแอลพีจี1 บาท กบง.เคาะเหลือกก.ละ 22.96 บาท
แนวหน้า : นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ว่ากบง.พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี (LPG) เดือนสิงหาคม 2558 ตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นแบบถ่วงน้ำหนัก (LPG Pool) ที่ปรับลดราคาตามน้ำมันตลาดโลกและปรับลดเงินกองทุนน้ำมันในส่วนของแอลพีจีส่งผลให้ราคาขายปลีกลดลง 1 บาท/กก. โดยลงไปอยู่ที่ 22.96 บาท/กก. หรือราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มลดลง 15 บาท/ถัง 15 กก. นับเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 4 เดือนหรือตั้งแต่ประกาศใช้ราคา 23.96 บาท/กก. ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2558
“ราคาดังกล่าวเป็นราคาแอลพีจีทั้งครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าใช้ถัง 15 กก. ก็จะลดลงถังละ 15 บาททันที ราคานี้หากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ผู้ค้าไม่ลดลง รวมถึงปั๊มแอลพีจีไม่ลดราคาดังกล่าวก็ต้องไปร้องกระทรวงพาณิชย์เพราะแอลพีจีไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม ส่วนแอลพีจีที่ลดราคาแล้วจะให้แม่ค้าลดราคาข้าวแกงด้วยก็เห็นใจเขาเถอะเพราะค่าแรงก็แพงอยู่แล้ว” นายณรงค์ชัยกล่าว
สำหรับ ราคาแอลพีจีที่ปรับลดลงในเดือนสิงหาคมเป็นผลมาจากต้นทุนราคาเฉลี่ยปรับลดลง 0.78 บาท/กก. หรือ ลดลงเหลือ 14.89 บาท/กก. (432.60 เหรียญสหรัฐ/ตัน) จากเดือนกรกฎาคมราคา 15.67 บาท/กก. (463 เหรียญสหรัฐ/ตัน) เป็นผลจากต้นทุนของโรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมันและการนำเข้าลดลงตามราคาตลาดโลกที่ผันแปรตามราคาน้ำมัน ล่าสุดราคาตะวันออกกลางอยู่ที่ 379 เหรียญสหรัฐ/ตัน
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า กบง.เห็นว่าควรจะปรับลดให้เป็นราคาที่เหมาะสมที่ 1 บาทต่อกก.โดยคำนวณจากการเสียภาษีและการปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของก๊าซแอลพี ดังนั้น จึงลดเงินกองทุนแอลพีจีที่ 0.15 บาท/กก. หรือปรับลดลง จาก 1.07 บาท/กก. เป็น 0.92 บาท/กก. ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของก๊าซแอลพีจีมีรายรับ 267 ล้านบาท/เดือน
ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันฯสุทธิล่าสุดอยู่ที่ 42,991 ล้านบาท แยกเป็นเงินกองทุนน้ำมัน 35,175 ล้านบาท และกองทุนฯแอลพีจี 7,816 ล้านบาท ปัจจุบันเงินไหลเข้ากองทุนฯเฉพาะในส่วนของน้ำมันเฉลี่ย 21 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามทิศทางราคาพลังงานยังมีแนวโน้มลดลงหลังจากที่อิหร่านมีทิศทางที่จะส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นแต่ไม่มีใครทราบได้ว่าจะลดมากน้อยเพียงใด