- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 03 August 2015 21:37
- Hits: 1875
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ห้าติดต่อกัน ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและภาวะอุปทานล้นตลาด
-ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ห้าติดต่อกัน โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในเดือน ก.ค. ปรับลดลงมากกว่าร้อยละ 21 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการณ์การเงินโลกในปี 51 จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในรอบเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับความกังวลต่ออุปทานส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปก ที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะชะลอกำลังการผลิตลงถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในภาวะตกต่ำก็ตาม
- นายอับดุลลาห์ อัล-บาดรี เลขาธิการกลุ่มโอเปก ยืนยันว่ากลุ่มโอเปกจะไม่ลดกำลังการผลิตลง ถึงแม้ว่าตลาดน้ำมันดิบโลกกำลังเผชิญกับภาวะน้ำมันดิบล้นตลาดก็ตาม และเน้นย้ำว่าความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะพยุงไม่ให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อไปอีก โดยกลุ่มโอเปกคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันดิบในปี 58 จะขยายตัวราว 1 ล้านบาร์เรลล์ ทั้งนี้ ผลสำรวจจากรอยเตอร์เปิดเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกผลิตในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นกว่า 1.4 แสนบาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 32.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการผลิตของอิรักที่เพิ่มขึ้น
- Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 5 แท่น สู่ระดับ 664 แท่น ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงในรอบเดือนที่ผ่านมาก็ตาม ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บางส่วนได้วางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงก่อนหน้านี้ที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยราว 60 ดอลล่าสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. ปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งมากกว่าที่ผู้ผลิตเหล่านี้ได้คาดการณ์ไว้
-/+ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) ได้เริ่มดำเนินการสอบสวนกรณีการเทขายหุ้น ซึ่งการสอบสวนดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปรับลดลงกว่าร้อยละ 8.5 สู่ระดับ 3725.56 จุด ในวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับลดลงภายในวันเดียวที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 50 โดยตัวแทนจาก CSRC มองถึงความเป็นไปได้ว่าเบื้องหลังการปรับลดลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นจีน อาจเกิดจากการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายกำลังสมรู้ร่วมคิดกันเทขายหุ้น ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รับผิดชอบกำลังใช้ความพยายามเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเทขายต่อไปอีก ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
-/+ ตลาดหุ้นกรีซจะกลับมาเปิดทำการในวันนี้ หลังจากที่ปิดทำการกว่า 5 สัปดาห์ เนื่องจากวิกฤติการเงินของประเทศ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังของกรีซ ระบุว่าจะกำหนดเงื่อนไขบางส่วนสำหรับนักลงทุนภายในประเทศ เพื่อป้องกันเงินไหลออกจากระบบธนาคารของกรีซ โดยนักลงทุนกรีซสามารถซื้อหุ้น พันธบัตร หรือตราสารอนุพันธ์ได้หากใช้เงินทุนก้อนใหม่ แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาจากบัญชีของธนาคารกรีซ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติจะไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าว นอกจากนี้ ในช่วง 3 วันแรกของการกลับมาเปิดทำการ การซื้อขายในตลาดหุ้นจะหยุดลง หากมีการปรับตัวขึ้นหรือลดลงเกินกว่าร้อยละ 7 ในช่วง 10 นาทีแรกของการเปิดทำการ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากตลาดน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ที่ยังคงตึงตัวจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ตลาดอาจได้รับแรงกดดันจากการส่งออกของไต้หวันที่เพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในประเทศเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดยังคงเผชิญกับภาวะอุปทานล้นตลาด จากการส่งออกของจีนที่เพิ่มขึ้นจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน มิ.ย. หลังจากที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนตัวลง เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ประกอบกับความต้องการในภาคการประมงที่ลดลง ในช่วงฤดูกาลห้ามจับปลาของจีน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากตลาดน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ที่ยังคงตึงตัวจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ตลาดอาจได้รับแรงกดดันจากการส่งออกของไต้หวันที่เพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในประเทศเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดยังคงเผชิญกับภาวะอุปทานล้นตลาด จากการส่งออกของจีนที่เพิ่มขึ้นจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน มิ.ย. หลังจากที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนตัวลง เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ประกอบกับความต้องการในภาคการประมงที่ลดลง ในช่วงฤดูกาลห้ามจับปลาของจีน
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาทิศทางเศรษฐกิจของจีนว่าจะเป็นเช่นไรต่อไป หลังตลาดหุ้นจีนกลับมาผันผวนหนักอีกครั้งหนึ่ง แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนจะมีการระดมมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะช่วยพยุงการดิ่งตัวของตลาดหุ้นแล้วก็ตาม ส่งผลให้นักลงทุนยังมีความกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจของจีนต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายคาดว่ารัฐบาลจีนจะทุ่มเงินอีกครั้งหนึ่งเพื่อพยุงตลาดหุ้นที่ตกครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งอาจจะทำให้มีนักลงทุนเข้าไปช้อนซื้อเพื่อทำกำไร ส่งผลให้ราคาหุ้นอาจจะสูงขึ้นแบบฟองสบู่ ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำมันเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ดังนั้นหากเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวก็จะทำให้ราคาน้ำมันถูกกดดันปรับลดลงไปได้
ติดตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานซึ่งสิ้นสุดวันที่ 18 ก.ค. ลดลงแตะระดับต่ำที่ในรอบ 42 ปี ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นและส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบ
บริษัทน้ำมันหลักหลายรายเตรียมประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2/58 ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับลดลงราว 40% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอาจนำไปสู่แผนการปรับลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ของปีหน้าได้ แม้ว่าในปีนี้จะมีบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่หลายรายปรับลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ไม่จำเป็น รวมถึงลดจำนวนพนักงานลงไปบ้างแล้วก็ตาม ทั้งนี้ หากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันมีการปรับลดแผนการผลิตน้ำมันเพิ่มเติม ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนไม่ให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงไปมากนัก