- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 03 August 2015 21:36
- Hits: 1741
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 3-7 ส.ค.58 และสรุปสถานการณ์ฯ 27-31 ก.ค.58
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (3 – 7 ส.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเคลื่อนไหวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง จากแรงกดดันของตลาดหุ้นจีนที่ร่วงหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ตลาดกังวลถึงผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันดิบของจีน ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) ย้ำชัดถึงความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี ผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่ประกาศในช่วงเดือนนี้ซึ่งมีแนวโน้มแย่ลง อาจส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนในปีหน้าลง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันดิบ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาทิศทางเศรษฐกิจของจีน หลังตลาดหุ้นจีนกลับมาผันผวนหนักอีกครั้ง แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ระดมมาตรการต่างๆ ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย ชะลอการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก สนับสนุนการปล่อยเงินกู้แก่บริษัทหลักทรัพย์ สั่งยุติการซื้อขายหุ้นชั่วคราวของบริษัทกว่าครึ่งของตลาดหลักทรัพย์ และไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทตลาดหลักทรัพย์ขายหุ้นภายใน 6 เดือน เพื่อที่จะช่วยพยุงการดิ่งตัวของตลาดหุ้นแล้วก็ตาม แต่นักลงทุนก็ยังมีความกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจของจีนต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายคาดว่ารัฐบาลจีนจะทุ่มเงินอีกครั้งเพื่อพยุงตลาดหุ้นที่ตกครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งอาจจะทำให้มีนักลงทุนเข้าไปช้อนซื้อเพื่อทำกำไร ส่งผลให้ราคาหุ้นอาจจะสูงขึ้นแบบฟองสบู่ ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำมันเป็นอันดับที่ 2 ของโลก หากเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวก็อาจส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบได้
ติดตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น อย่างต่อเนื่อง จากการที่ FED มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานซึ่งสิ้นสุดวันที่ 18 ก.ค. ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 42 ปี ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นและส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบ
บริษัทผู้ผลิตน้ำมันหลักหลายราย เตรียมประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2/58 ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับลดลงราว 40% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ว่าในปีนี้จะมีบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่หลายรายปรับลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน และหากมีการปรับลดแผนการผลิตน้ำมันเพิ่มเติม ก็อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาการหารือเกี่ยวกับข้อตกลงหนี้สินของกรีซจะมีความคืบหน้าในทางที่ดีขึ้น แต่ตลาดยังคงเฝ้าจับตาการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกรีซอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างรัฐบาลกรีซและกลุ่มทรอยก้า ซึ่งประกอบด้วยธนาคารกลางยุโรป (ECB) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ณ กรุงเอเธนส์ ผลของการเจรจาดังกล่าวกรีซจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ในช่วงเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (EU) ยังเรียกร้องให้กรีซดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับความช่วยเหลือด้านการเงินรอบที่ 3
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต ดัชนีนอกภาคการผลิต จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก อัตราการว่างงาน รายได้นอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิต ดัชนีราคาผู้ผลิตของยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิต และดัชนีภาคการบริการของจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 – 31 ก.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปิดที่ 47.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.41 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 52.21 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 52 เหรียญสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากตลาดหุ้นจีนที่กลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้ง โดยในวันอังคารที่ผ่านมาปรับลดลงมากกว่าร้อยละ 8 ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา สาเหตุเนื่องจากนักลงทุนเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มอ่อนตัวลงสะท้อนจากตัวเลขการผลิตจีนในเดือนล่าสุด และกำไรของผู้ประกอบการในเดือน มิ.ย. ที่ปรับลดลง นอกจากนี้ตลาดยังคงถูกกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาดราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังซาอุดิอาระเบีย อิรัก ยังคงเดินหน้าผลิตอยู่ในระดับสูง