- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 28 July 2015 12:24
- Hits: 3911
ม็อบต้านเวทีถก โรงไฟฟ้า'เทพา' โยน กก.3 ฝ่ายชี้ขาดโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
ห้ามเข้า - ชาวบ้านอ.เทพา จ.สงขลา หลายร้อยคนไม่พอใจที่ตำรวจไม่อนุญาต ให้เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ (ค.3) การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน และท่าเรือขนส่งถ่านหิน ซึ่งจัดขึ้นที่อบต.ปากบาง เมื่อวันที่ 27 ก.ค.
ฝ่ายคัดค้านโวย ถูกกีดกันไม่ให้ร่วมเวทีประชาพิจารณ์ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา สงขลาหวั่นเกรงส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชุน รับฟังแต่ฝ่ายสนับสนุน อีกทั้ง ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจำนวนมากตรึงสถานที่ วางแผงเหล็กกั้น ให้อยู่อีกฝั่งถนน ชี้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิชุมชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม หยุดสร้างความแตกแยกในพื้นที่
วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9008 ข่าวสดรายวัน
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่สำนักงาน อบต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา สถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือขนส่งถ่านหิน เป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีแผนก่อสร้างในพื้นที่ อ.เทพา โดยมีนายธำรงค์ เจริญกุล ผวจ.สงขลา เป็นประธานรับฟังความคิดเห็น และตั้งแต่เช้ามีประชาชนฝ่ายสนับสนุนทยอยเดินทางมาร่วมเวที
ขณะเดียวกัน มีกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชน ก็เดินทางมาขอร่วมแสดงความเห็นด้วยเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ เข้าร่วมเวที ต่อมานายอำเภอเทพาเป็นตัวแทนภาครัฐมาเจรจากับฝ่ายคัดค้าน ก่อนได้ข้อตกลง ว่า จะให้ฝ่ายเห็นต่างส่งตัวแทนเข้าพบผู้ว่าฯ สงขลา ได้เพียง 3 คน แต่หากใครถือป้าย หรือแสดงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วย ห้ามเข้าไปด้านใน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเวทีรับฟังความคิด เห็นครั้งที่ 3 ของโครงการดังกล่าว มีข้าราชการ ในพื้นที่มาร่วมเป็นจำนวนมาก ท่ามกลาง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกระจายเต็มพื้นที่ ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง บางส่วนแต่งชุดลายพราง และติดอาวุธด้วย และเป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายสนับสนุนนั้น ทางเจ้าหน้าที่จะให้เข้าร่วมเวที บางคนได้รับเสื้อแจกด้วย สกรีนข้อความว่า "เทพาเมืองเก่า คนเอาถ่าน" แต่กลุ่มใดที่แสดงตัว หรือมีเครื่องหมายไม่เห็นด้วย จะถูกกีดกันให้อยู่ด้านนอก ท่ามกลางความไม่พอใจ
นายอิสดาเรส เหมนคร หนึ่งในชาวบ้าน ผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กล่าวว่าการจัดเวทีครั้งที่ 3 ฝ่ายที่เห็นต่างไม่สามารถเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นได้ ถูกเจ้าหน้าที่กั้นด้วยแผงเหล็กให้อยู่ริมถนนหน้า อบต.ปากบาง ถือว่าขัดต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิทธิของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลักการคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าว สาร สิทธิในการใช้ประโยชน์และคุ้มครองรักษาทรัพยากร และวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นของตน อันเป็นสิทธิที่บัญญัติรับรองไว้ตามความในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 4
ชาวบ้านผู้คัดค้านกล่าวว่า หลังจากนี้ทางเครือข่ายผู้คัดค้านจะไปเรียกร้องให้ศูนย์อำนวย การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งผู้รับผิดชอบบริหารพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ดังนี้ ขอให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการของบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานก่อสร้าง เพราะขาดความชอบธรรมและขาดธรรมาภิบาล ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจทางการปกครอง ที่ใส่ร้ายฝ่ายผู้คัดค้านโครงการ ขอให้หยุดโฆษณาชวนเชื่อ ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อประชาชน อันทำให้เกิดความแตกแยก และความเข้าใจผิดในกรณีการก่อสร้างท่าเรือและโรงไฟฟ้าถ่านหิน
วันเดียวกัน นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ว่า กฟผ.ไม่ควรเปิดประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพราะจะยิ่งสร้าง ความหวาดระแวงให้ชาวบ้าน และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ส่วนที่เปิดประมูลไปแล้วก็ต้องยกเลิก เพราะรายงานผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ยังไม่ผ่าน ยิ่งกรณีที่จะสร้างอุโมงค์มุดพื้นที่ป่าชายเลนระยะทาง 9 ก.ม. ยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ไม่มีรายละเอียดในพื้นที่ มีจุดอ่อนเยอะ
นายเกษมสันต์ กล่าวอีกว่า กฟผ.ควรต้องรีบถอนอีเอชไอเอออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เพื่อแสดงความจริงใจ รวมทั้งประกาศยกเลิกการประกวด ราคาทุกอย่าง ส่วนเรื่องที่มีข่าวว่ารองผู้ว่าฯ กฟผ.บอกว่าไม่สามารถถอน หรือยกเลิกทั้งการประมูลและถอนอีเอชไอเอได้ เพราะเป็น การทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ที่กระทรวงพลังงานเสนอไปยังรัฐบาลนั้น ยืนยันว่าถอนได้ หรือหากรัฐบาลมีนโยบายอะไร ก็ค่อยส่งมาให้พิจารณาใหม่ เนื่องจากโครงการของรัฐ ไม่จำกัดเวลาอยู่แล้ว
"กฟผ.ควรตระหนักถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็น จะต้องมีความโปร่งใสทุกขั้นตอน ชาวบ้านอยากรู้อะไรในขั้นตอนไหน ต้องให้เขา ได้รู้ กฟผ.ไม่ใช่บริษัทเอกชน ที่ต้องมีข้อมูลลับบริษัทที่ต้องปกปิด แต่เป็นหน่วยงานรัฐ เพราะยิ่งปิด ยิ่งทำให้ชาวบ้านไม่เข้าถึงข้อมูลเขาก็ยิ่งหวาดระแวง ขณะที่ทางสผ. ก็อยู่ระหว่าง การแก้ไขเรื่องกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี หลักการคือจะเปิดเผยข้อมูลการพิจารณา ทั้งอีไอเอ และอีเอชไอเอ ทุกขั้นตอนเป็น สเต็ป บายสเต็ป เพื่อต้องการยุติความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ ความเชื่อใจกัน" นายเกษมสันต์กล่าว
ก.พลังงาน รอฟังรัฐบาลจะให้ชะลอก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่หรือไม่ ระบุมีความจำเป็น ทั้งลดความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงและต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต
นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงานและประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ชะลอแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ การเดินหน้าโครงการยังเป็นไปตามแผน โครงการอยู่ระหว่างรอการพิจารณาแผนอีเอชไอเอหรือรายงานแผนการป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และในเช้านี้ก่อน 09.00 น.กำหนดการเปิดรับซองเสนอการก่อสร้างจากเอกชนก็ยังสามารถเสนอได้ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2558 อย่างไรก็ตามมีข้อกำหนดชัดเจนว่าจะทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างก็ต่อเมื่ออีเอชไอเอผ่านการพิจารณาแล้วภายในระยะเวลา 6 เดือน
"จะเลื่อนเวลาเปิดรับซองก่อสร้างจาก 5 ส.ค.หรือไม่ ก็คงรอฟังผลการเจรจาระหว่างผู้คัดค้านกับตัวเทนรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันนี้ กรณีเลื่อนหรือไม่คงไม่ใช่เรื่องการแพ้ชนะ แต่ทุกอย่างควรจะดูถึงกติกากฏหมายประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ซึ่งในขณะนี้จากการที่ก๊าซเจดีเอปิดซ่อมก็เห็นได้ชัดว่าไฟฟ้าในภาคใต้มีความเสี่ยง"นายคุรุจิต กล่าว
ปลัดกระทรวงพลังงาน ย้ำว่า ไฟฟ้าที่ภาคใต้มีความเสี่ยง เพราะผลิตไฟฟ้าไม่พอ เห็นชัดจากขณะนี้แหล่งก๊าซเจดีเอหยุดซ่อมวันที่ 21-25 ก.ค.โรงไฟฟ้าจะนะต้องหยุดเดินเครื่อง 700 เมกกะวัตต์ใช้น้ำมันผลิตทดแทนบางส่วน ค่าไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่ดูแลป้องกันมลพิษและต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทั้งปัญหาโรงไฟฟ้ากระบี่มีแนวโน้มชะลอ จากที่ก่อนหน้านี้นายรัฐมนตรีสั่งชะลอการเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 เป็นแรงกดดันการทำงานของกระทรวงพลังงานหรือไม่ นายคุรุจิต กล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่กระทรวงพลังงานต้องผลักดันให้เกิดขึ้นทั้ง 2โครงการ เพื่อให้เกิดขึ้นทั้ง 2 เรื่องเพราะปัญหาเห็นชัดจากความเสี่ยงการพึ่งพาก๊าซเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ70 ในขณะที่ก๊าซฯในประเทศลดน้อยลง จึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งการกระจายเชื้อเพลิงและเร่งสำรวจใหม่ ไม่เช่นนั้นไทยคงต้องพึ่งพาก๊าซเหลวนำเข้าหรือแอลเอ็นจีทดแทนทั้งหมด จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
โยน กก.3 ฝ่ายชี้ขาดโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
บ้านเมือง : เมื่อวันที่ 24 ก.ค.58 ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จ.กระบี่ นำโดยนายอัครเดช ฉากจินดา และนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ได้ประชุมหารือกับตัวแทนจากรัฐบาลโดยมี พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และผู้เข้าร่วม อาทิ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นาย สมนึก บำรุงสาลี ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน และว่าที่ พ.ต.อนุชาติ ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา ผู้แทน สผ.กฟผ.
ทั้งนี้ ในการหารือตัวแทนของเครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเสนอต่างๆ อาทิ การขอให้ชะลออีไอเอออกไปก่อน และการประมูลโรงไฟฟ้ายังไม่ควรเกิดขึ้น อีกทั้งขอให้การไฟฟ้านำเอาข้อมูลที่ได้หารือไปประกาศในเว็บไซต์ว่าการกระทำต่างๆ ในการประมูลในวันที่ 5 สิงหาคมนี้จะไม่มีผลทางกฎหมาย และเครือข่ายฯ ยืนยันที่จะให้หยุดสร้างโรงไฟฟ้า และหันมาใช้พลังงานทดแทน ขณะเดียวกันขอเวลา 3 ปีในการพิสูจน์ว่าสามารถนำพลังงานทดแทนมาใช้ได้จริง และมองว่าการตั้งคณะกรรมการทั้ง 3 ฝ่ายถือเป็นเรื่องดี
ด้าน;ว่าที่ พ.ต.อนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าในระหว่างตั้งคณะกรรมการไตรภาคีและระหว่างพูดคุยหารือกันจนกว่าจะมีข้อยุติ เราจะไม่ลงนามสัญญาต่างๆ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จนกว่าอีไอเอจะผ่านความเห็นชอบ และอะไรที่ไม่อยู่ในอีไอเอบริษัทที่ได้รับการประมูลต้องนำไปเพิ่มเติมและปฏิบัติตาม ขณะเดียวจะนำข้อเสนอนี้ไปประกาศลงเว็บไซต์การไฟฟ้าตามที่เครือข่ายได้เสนอฯ
ขณะที่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการพลังงาน สนช. กล่าวว่า ตนเข้าใจทั้ง 2 ฝ่ายว่าต้องดำเนินการตามกลไกของตัวเอง ทาง กฟผ.ก็ดำเนินการประมูล ทางเครือข่ายก็ต้องการพลังงานทดแทน แต่ทั้งนี้เมื่อตั้งคณะไตรภาคีแล้วผลออกมาอย่างไรก็ต้องทำตามนั้น หากกรรมการไตรภาคีไม่เอาด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ก็ต้องล้มโครงการทั้งหมดที่ได้ทำมา ซึ่งนายกฯ ยึดผลหลังการพูดคุยของไตรภาคีเป็นใหญ่ในการมีผลบังคับใช้
พล.ต.สรรเสริญ แถลงข่าวสรุปใจความการหารือว่าทางประชาชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพลังงาน รัฐวิสาหกิจหรือ กฟผ. และสมาชิก สนช. สปช. จะร่วมเป็นคณะกรรมการสามฝ่าย หรือไตรภาคี ที่จะยุติข้อกังวลต่างๆ และในระหว่างนี้กระบวนการทั้งหลายของหน่วยงานปฏิบัติ จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพราะท้ายที่สุดต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ซึ่งภาครัฐบาลต้องคำนึงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในต่างประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็คำนึงถึงความไม่สบายใจของประชาชน เพราะฉะนั้น ขออย่าถือเป็นชัยชนะอะไรกัน
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า จะจัดการประชุมไตรภาคีโดยเร็วที่สุด ส่วนข้อกังวลของทางเครือข่ายฯ ที่ว่าวันที่ 5 สิงหาคม ได้สอบถามกับทาง กฟผ.แล้ว พบว่าเป็นการดูแลรายละเอียดเงื่อนไข และไม่มีการลงนามใดๆ ไม่มีผลผูกพันกับการปฏิบัติใดๆ อย่างไรก็ตามประเทศเราต้องมีความมั่นคงทางพลังงาน แต่จะด้วยอะไรก็ตามแต่ ไม่ว่าจะพลังงานทดแทน หรือพลังงานถ่านหิน ก็ให้พูดคุยกันในไตรภาคีต่อไป ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องรับฟังข้อเสนอและนำสู่การพิจารณาร่วมกันเพื่อหาทางออกให้ประเทศและประชาชนในพื้นที่ เขายื่นมาทั้งหมด 3 ข้อ 1.การตั้งคณะกรรมการก็คุยกันได้ทั้งสองฝ่ายหาคนกลางมาช่วย 2.ให้ยกเลิก EIA กับ EHIA ว่าทำผ่านหรือยัง ถ้ายังไม่ผ่านก็ไม่ต้องยกเลิก ซึ่งขณะนี้ยังไม่ผ่านเพราะมีหลายประเด็น การทำ EHIA จะทำใหม่ได้หรือไม่ หากทำต่อไปจะติดขัดกันไปหมด ถ้าเราวางแผนยุทธศาสตร์ว่าจะเกิดอะไร อนาคตก็จะรู้ว่าจะเอาอย่างไร 3.การทำ EHIA ส่วนใหญ่มักจะเป็นการทำโดยรัฐและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องดูคนในพื้นที่และคนที่ได้รับผลประโยชน์ว่ามีใครบ้าง ให้เขามาฟังหากไม่เห็นชอบ ถ้าเขาไม่เห็นชอบกับคนที่อยู่ในพื้นที่ก็รับได้ แต่ถ้าในพื้นที่รับไม่ได้และรอบนอกเดือดร้อน ก็ลำบากแล้วจะทำอย่างไร จะต้องมาดูว่าคนที่เดือดร้อนจะทำอย่างไร ตอนนี้ตนก็รอฟังเขาอยู่